net-zero

ชง ครม. ไฟเขียว ตั้ง JTC เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

    ยังเป็นประเด็นที่สนใจและข้อถกเถียงเป็นวงกว้างถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งกรอบการเจรจาได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกันไว้ตั้งแต่ปี 2544 หรือ MOU 44

ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางการหาข้อยุติในเส้นเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ จากความเห็นต่างหรือข้อสงสัยที่ว่า MOU ฉบับนี้จะนำไปสู่ให้ไทยเสียดินแดน และมีผู้ได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ชง ครม. ไฟเขียว ตั้ง JTC เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ขณะที่ประเทศมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการพัฒนานำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน อีกทั้งก๊าซธรรมชาติยังมีความสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ดังนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงต่อข้อสงสัยดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น

ในมุมมองของนายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผ่านเวทีสัมมนาหัวข้อ “OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาและคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่า

ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐที่อยู่ชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในไหล่ทวีปอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นในการประกาศเขตไหล่ทวีปก็ได้ แต่เนื่องจากทะเลอ่าวไทยนั้นแคบและตื้น อีกทั้งมีรัฐอื่นๆ ที่อยู่รายล้อม ทำให้การประกาศไหล่ทวีปไม่ว่าจะอาศัยหลักนํ้าลึก 200 เมตรตามอนุสัญญาเจนีวาหรือหลัก 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานตามหลัก UNCLOS 1982 ก็ไม่สามารถจะกำหนดได้อย่างเต็มที่ จึงไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณเกาะกูด มีแต่การอ้างสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน

สอดรับกับ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ สะท้อนว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้รัฐชายฝั่ง ไม่ว่าจะมีชายฝั่งประชิดติดกัน หรืออยู่ตรงข้ามกันทำความตกลงกัน เพื่อใช้สิทธิอธิปไตยในไหล่ทวีปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรได้ โดยอาศัยหลักแห่งความเป็นธรรมเป็นสำคัญ

อีกทั้ง ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ได้อนุญาตให้รัฐชายฝั่งที่ยังหาทางตกลงกัน หรือแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันไม่ได้ สามารถกำหนดมาตรการชั่วคราว ในการจัดการข้อพิพาทหรือแสวงหาประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้นการจัดทำ MOU 44 และ การจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area-JDA) ถือได้ว่าเป็นมาตรการชั่วคราวตามนัยของกฎหมายระหว่างประเทศ (UNCLOS Article 74, 83 (3)

ชง ครม. ไฟเขียว ตั้ง JTC เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

อย่างไรก็ตาม การจะบอกเลิกเพิกถอน MOU 44 ย่อมจะกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปโดยความตกลงของทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญที่สุด MOU 44 ไม่ก่อให้เกิดการเสียดินแดนแต่อย่างใด เพราะโดยตัวของมันเองไม่ก่อให้เกิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน แต่เหตุที่ต้องกำหนดให้มีการแบ่งปัน (delimit) พื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ เพื่อให้มีความชัดเจนเรื่องเกี่ยวกับทะเลอาณาเขต และเขตต่อเนื่องบริเวณเกาะกูดเป็นสำคัญ

ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ต่างยืนยันว่า การจะดำเนินการใด ๆ ต้องยึดหลักความถูกต้องและประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องเพิ่มการสร้างความเข้าใจของสังคมให้มากขึ้นถึงกรณีเกาะกูด ว่าเป็นสิ่งที่หน่วยงานทุกหน่วยมีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่รักษาสิทธิและพื้นที่ตามหลักกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ไทยและกัมพูชาควรจะเร่งเจรจา เพื่อหาทางนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่สำรวจและผลิตอยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมากจนถึงระดับ “วิกฤต” จำเป็นต้องหาแหล่งใหม่ ๆ มาเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยเร่งด่วน

จากปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่ลดนี้เอง ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาผันผวนเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ จากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในปี 2554 เพิ่มเป็น 30% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ประเทศไทยใช้ในปี 2567 และนำมาซึ่งต้นทุนและราคาค่ากระแสไฟฟ้าของไทย จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตลอด เพราะเหตุที่ราคาก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศผันผวนและไร้เสถียรภาพ

ดังนั้น การเจรจาในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันกับกัมพูชาภายใต้ MOU 44 จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และหากสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จะก่อเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ที่ทำการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ใกล้พื้นที่ OCA อยู่แล้ว หากสามารถตกลงกันได้ก่อนเวลาที่อุปกรณ์เหล่านั้นจะเสื่อมสภาพ ก็จะสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เร็วขึ้น ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้

 ขณะที่การดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไปนั้น โดยเฉพาะการเรียกร้องให้นำ MOU 44 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น

นายอังกูร กุลวานิช รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะ MOU 44 ทำขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แม้ว่าจะมีบทบัญญัติที่คล้ายกัน แต่ไม่มีผลย้อนหลัง อีกทั้ง MOU 44 ฉบับนี้ แม้จะเป็นหนังสือสัญญา แต่ไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรือก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในวงกว้าง จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะต้องนำเข้าผ่านความเห็นชอบตามมาตรา 178 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศ จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและขออนุมัติกรอบการเจรจาจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee : JTC) ซึ่งขณะนี้ได้เสนอโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ JTC ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว กำลังรอว่าจะมีการอนุมัติแต่งตั้งเมื่อใด