กฤษฎีกา ชี้ปม MOU44 ยกเลิกฝ่ายเดียวได้ แต่ไม่ควรทำ แนะใช้ “พื้นที่อ้างสิทธิ”

12 พ.ย. 2567 | 16:33 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2567 | 16:37 น.

เลขาฯกฤษฎีกา ให้ความเห็นปมร้อน ไทย-กัมพูชา ชี้ยกเลิก MOU 44 ฝ่ายเดียวได้ แต่ไม่ควรทำ หวั่นกระทบความสัมพันธ์ แนะใช้คำว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ” มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า

วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2567) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีมีการเรียกร้องให้ไทยยกเลิก MOU 44 ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ไทยสามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้หรือไม่ ว่า ตามหลักการ MOU มีจุดเริ่มต้นมาจากสองประเทศว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราเป็นคนริเริ่มทำและทำฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำ ซึ่งหากจะถามว่าการยกเลิก MOU ฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้แต่ไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เราเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน

ส่วนการอ้างพื้นที่ทับซ้อน นายปกรณ์ อธิบายว่า เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใคร จะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่า "พื้นที่อ้างสิทธิ" ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้น MOU ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่า อันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ

ส่วนการใช้คำว่า "พื้นที่ทับซ้อน" ในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายปกรณ์ ยอมรับว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล ตนแนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่า พื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีของใครเป็นของใครแน่ จะแบ่งกันอย่างไร

"การใช้คำว่าทับซ้อน คิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้ แต่หากเราคุยกันเป็นพื้นที่ต่างคนต่างอ้างสิทธิ มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ตนพูดในแง่ทางวิชาการ ไม่มีการเมือง ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิมาตลอด ไม่เคยใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน" นายปกรณ์ ระบุ