“รัฐบาล”ลุยไฟแบ่งปันผลประโยชน์ไทย-กัมพูชา

10 พ.ย. 2567 | 06:30 น.

“รัฐบาล”ลุยไฟแบ่งปันผลประโยชน์ไทย-กัมพูชา : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,043

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,043 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** กรณี “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา” และปม “เกาะกูด” กลายเป็นประเด็นร้อนเขย่า “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” จนต้องเรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกันอย่างรีบร้อนในช่วงบ่ายวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะออกมาร่วมกันแถลงข่าวว่า “รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม”

พร้อมระบุว่า เกาะกูด ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย  ส่วน MOU44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ...อย่านำเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน  ขอให้ทำความเข้าใจต่างๆ ให้ตรงกันตามหลักและพรรคร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้

*** ถัดมาวันรุ่งขึ้น 5 พ.ย. 2567 นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) เพื่อเจรจาเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ในพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชา หรือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ภายใต้ MOU 2544 ว่า อีกไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์จะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. สำหรับเรื่อง MOU 44 เป็นเรื่องระหว่างประเทศ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา ซึ่งทุกรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังแต่งตั้งไม่เสร็จ โดยคณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลและสื่อสารต่อสาธารณชน ส่วนจะให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันอีกที 

*** ขณะที่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ก็ออกมายืนยันว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใดๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100% การคง MOU44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วย และหากเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานราคาถูกลง พร้อมเรียกร้องว่า “ขอให้เชื่อมั่นว่า การเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด" 

                                   “รัฐบาล”ลุยไฟแบ่งปันผลประโยชน์ไทย-กัมพูชา

*** เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “รัฐบาลแพทองธาร” มองข้ามเรื่องเสีย “เกาะกูด” อย่างที่มี “ขาประจำ” ออกมาจุดประเด็น-สร้างกระแสชาตินิยมคัดค้าน เพราะรัฐบาลนั่งยันนอนยันว่า “เกาะกูด” เป็นของไทย พร้อมกับจะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเจรจาเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ในพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ที่อุดมไปด้วย “น้ำมัน” กว่า 300 ล้านบาเรล และ “ก๊าซธรรมชาติ” ประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่าราว 1.8 ล้านล้านบาท

*** สำหรับท่าที่ของฝ่ายค้านต่อเรื่องดังกล่าว เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ออกมาแสดงความกังวลเรื่องการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียม ในพื้นที่ OCA อันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น ข้อตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ดังนี้ 

1.หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2515 จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่ 2. หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมระบุว่า “พรรคประชาชนสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA แต่ต้องการให้ทรัพยากรอันเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย ถูกจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนทั้งชาติ”

*** ไปปิดท้ายกันที่...การสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะนี้คณะกรรมการสรรหากำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรมของ ประภาส คงเอียด ผู้ได้รับการเสนอชื่อ หากใครมีข้อมูล ข้อเท็จจริง สามารถจัดส่งไปยังประธานกรรมการสรรหาได้ที่ ตู้ ปณ. 9 ปณฝ. รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 หรือ ที่สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เลขที่ 1111 อาคารรัฐสภา ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. 10300 หรือ http://www.senate.go.th ภายในวันพุธที่ 13 พ.ย. 2567 นี้