net-zero

จุฬาฯชวน SMEs อาหาร ประเมินคาร์บอนรองรับ Scope 3 บริษัทใหญ่

    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผุดโครงการสร้างแพลตฟอร์มหนุน SMEs ภายใต้โครงการวิจัย การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP)

บริษัทไทยรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างมุ่งมั่นตั้งเป้า Net Zero เดินหน้าลดคาร์บอนฟุตปรินท์องค์กรใน Scope 1 และ 2 ต่อเนื่อง แต่ความท้าทายใหญ่จากนี้คือ การลดคาร์บอนใน Scope 3 ที่มาจากคู่ค้าและลูกค้า

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผุดโครงการสร้างแพลตฟอร์มหนุน SMEs ภายใต้โครงการวิจัย การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP)

รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจคาร์บอนน้อย กล่าวว่า มีงานวิจัยในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าหลายประเทศพิสูจน์แล้วว่า บริษัทที่มีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในที่สุดแล้วจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการลดคาร์บอน ทำให้บริษัทต้องตรวจสอบปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจคาร์บอนน้อย

เช่น การใช้พลังงานน้อยลง การลดของเสีย การจัดเส้นทางขนส่งให้คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.วรประภา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยข้อมูลอาจยังไม่เพียงพอ แม้ทาง กลต. จะกำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ต้องส่งข้อมูล Carbon Emission แล้ว แต่บางแห่งยังส่งข้อมูลไม่ครบ รวมถึงบริษัททั่วไปโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs อาจยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควรในการวัดและลดการปล่อยคาร์บอน

จำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เป็น SMEs ถึง 95% และเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อย Scope 3 ในฐานะ “ต้นน้ำ” และ “ปลายน้ำ” ของบริษัทใหญ่ โครงการวิจัยนี้จึงเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์และให้คำปรึกษาฟรี แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ทั้งเรื่องความรู้ ที่ปรึกษา เครื่องมือ และเงินทุน

ค่าที่ปรึกษาและตรวจวัดคาร์บอนในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าแพงมากสำหรับธุรกิจรายย่อย หลักแสนบาทเป็นอย่างน้อย แต่เทรนด์ความยั่งยืนและกฎระเบียบที่เข้มขึ้น จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ ค่าให้บริการจะถูกลงในที่สุด เราจึงอยากให้เกิดการเริ่มต้นใช้และเก็บข้อมูลต่อเนื่อง ปีแรกมักเหนื่อยสุดและแพงสุด แต่ปีถัดมาจะถูกลงมาก รศ.ดร.วรประภากล่าว

 

ขณะที่ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นเป้าหมายแรกของการทำงานในครั้งนี้ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตตามประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และเกี่ยวข้องกับ SMEs ไทยจำนวนมาก จากการประเมิน Value Chain ของอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า ช่วงต้นน้ำหรือขั้นตอนการเพาะปลูก ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดกว่า 70% ของทั้งกระบวนการผลิต เช่น เนื้อวัวปล่อยคาร์บอนมหาศาล เนื่องจากต้องคำนวณทั้งกระบวนการเลี้ยงวัวและกระบวนการเพาะปลูกอาหารสัตว์ 

ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

การผลิตอาหารยุคใหม่จึงต้องใส่ใจข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กันไปกับเรื่องโภชนาการและความสะอาดปลอดภัย หากเปรียบเทียบโปรตีน 100 กรัมเท่ากันในวัตถุดิบอาหารสองประเภท คือ เนื้อวัวปล่อยคาร์บอน 35.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ถั่วปล่อยคาร์บอนเพียง 0.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเปิดเผยต่อผู้บริโภคมากขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในที่สุด เหมือนสมัยก่อนที่มีการบังคับให้เปิดเผยปริมาณแคลอรี่

ซูเปอร์มาร์เกตในต่างประเทศหลายแห่งได้ระบุข้อมูลนี้บนฉลากสินค้า และมีสัญลักษณ์สีเขียวชัดเจนบ่งชี้ว่าเป็นอาหารคาร์บอนต่ำ อีกทั้งตั้งเป้ารวม Scope 3 เข้ามาในเป้าหมายบริษัท เช่น Tesco ในอังกฤษจะลดคาร์บอน Scope 3 ให้สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 Walmart ของสหรัฐอเมริกาจะลดคาร์บอน Scope 3 ให้ได้ 1 พันล้านตันภายในปี 2030 ขณะที่ Aeon ในญี่ปุ่นตั้งเป้าทำงานกับซัพพลายเออร์ 80% ให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ตามแนวทาง SBTi 

ความซับซ้อนของการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์รายผลิตภัณฑ์ คือ ไม่ได้มองผ่านเลนซ์ Scope1-3 เหมือนการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร แต่ต้องมองผ่านวัฏจักรชีวิตของทั้งผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ ผลิต ขนส่ง บริโภค ทิ้ง ซึ่งมีหลายผู้เล่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ศ.ดร.ชนาธิป กล่าว

สำหรับประเทศไทยจะเกิดโมเมนตัมครั้งใหญ่ หลังจากการบังคับใช้ พรบ.Climate Change ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2026 สาระสำคัญของพรบ.ฉบับนี้มีการกำหนดให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคล (GHG Mandatory Reporting) เพื่อประเมินกลุ่มธุรกิจในการจัดสรรสิทธิปล่อยคาร์บอนในอนาคต ยิ่งทำให้บริษัทรายใหญ่ ต้องคัดเลือกผู้ประกอบการในซัพพลายเชนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและมีรายงานตัวเลขชัดเจน

ศ.ดร.ชนาธิป ทิ้งท้ายว่า หากเรายังกินเหมือนเดิม อุตสาหกรรมอาหารเพียงอย่างเดียวจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 แต่คนรุ่นใหม่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ eco-concious customer ที่มีพฤติกรรมเลิอกกินมากขึ้น ผู้ผลิตอาหารจึงต้องหันมาพัฒนาทางเลือกให้มากขึ้นด้วย

บทความโดย : ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์