นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยในเวทีสัมมนาวิชาการ “ภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวอย่างไร? เพื่อนำประเทศไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : SDGs” ว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวและก้าวสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยจำกัดเป็นต้องออกแบบกลยุทธ์การลงทุน เพื่อรองรับและรักษาเสถียรภาพราคาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และรับมือกับความท้าทายและโอกาสจาก CBAM
อย่างไรก็ดี กนอ. ได้กำหนดแนวนโยบายและกลยุทธ์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน 4 แนวทาง ประกอบด้วย
- ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่ความยั่งยืน โดยการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การรีไซเคิล และการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Industry) สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ส่งเสริมการจัดการของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ และ Digital Twin เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่ใช้พลังงานสะอาด ระบบจัดการของเสียครบวงจร และโรงงานรีไซเคิล สนับสนุนด้านการเงิน เช่น จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการลงทุน มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี และพัฒนาใบรับรองสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด 100% (RE100)
- พัฒนาสถาบัน I-EA-T ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ด้านความยั่งยืน โดยพัฒนาหลักสูตรจัดอบรม และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการรายงานและตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint Monitoring System) รวมถึงออกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเกณฑ์ CBAM เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการสนับสนุนความยั่งยืน เช่น โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว) สร้างการรับรู้ กระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมฯทั้งหมด และโครงการ I-EA-T Sustainable Business หรือ ISB เพื่อสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธรุกิจ