กกพ. เร่งขับเคลื่อน “Energy Transition” สู่พลังงานสีเขียว

12 ก.พ. 2567 | 17:34 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 17:47 น.

กกพ.ชี้โจทย์ ความท้าทาย หนุน Net Zero เร่งขับเคลื่อนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานสะอาด เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน รับมือการกัดกันทางการค้า ชี้พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีความจำเป็นช่วยสร้างความมั่นคง ลดความผันผวนพลังงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 การขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว การดำเนินงานของภาคพลังงานจึงมีบทบาทสำคัญ ที่จะต้องลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นทาง

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนตํ่า (Energy Transition) โดยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ในการลดปล่อยคาร์บอน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงาน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาด รับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันในตลาดโลก และไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ประเทศบรรลุ Net Zero ได้นั้น สำนักงาน กกพ. มีภารกิจที่ต้องเร่งขับเคลื่อน ได้แก่ 1.การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอน(CCS)

กกพ. เร่งขับเคลื่อน “Energy Transition” สู่พลังงานสีเขียว

2.การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม

3.การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพ และความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบ สามารถดึงเอาศักยภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ประกอบกับการมีภูมิประเทศเชื่อมติดกับ สปป.ลาวสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังนํ้า ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก

รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่น ๆ เช่น จากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา(OCA ) ที่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์(CCS) ในหลุมปิโตรเลียมต่าง ๆ

4.การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม เช่น การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อเตรียมการรองรับการเติบโตของความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ซึ่งกกพ.ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว ปัจจุบัน สำนักงาน กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง อยู่ระหว่างนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปทดลองและจะประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว คาดว่าจะประกาศใช้ในต้นปี 2567

“การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซํ้าซ้อน และสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืนได้”