energy
514

ค่าไฟส่งสัญญาณ ปรับตัวลดลง ผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา

    ถือเป็นข่าวดีถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่มีโอกาสปรับตัวลดลงจากรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

ล่าสุดบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ออกมายืนยันถึงการเร่งเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากแหล่ง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ให้ได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ได้ภายในเดือนเมษายน 2567 นี้ จากปัจจุบันผลิตได้ก๊าซฯได้กว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.อีดี ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิตตามแผน หลังจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ซึ่งขณะนั้นปริมาณการผลิตก๊าซลดลงราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปริมาณเดิมที่เคยผลิตได้อยู่ราว 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ค่าไฟส่งสัญญาณ ปรับตัวลดลง ผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา

ด้วยเหตุของโครงสร้างธรณีวิทยาแหล่งเอราวัณ ที่เหลืออยู่เป็นกระเปาะเล็ก ๆ กระจัดกระจาย ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุ 3-4 ปี ทางบริษัท เชฟรอนฯ จึงได้ชะลอการลงทุนหรือลดการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่ม เพราะผลตอบแทนที่กลับมาได้ไม่คุ้มทุน ซึ่งภาครัฐทราบดี และเป็นปัจจัยที่ทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ปรับลดปริมาณการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณจาก 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลงเหลือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปริมาณก๊าซส่วนที่ขาดหายให้ไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีมาทดแทน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เมษายน 2565 ปตท.สผ.อีดี ได้เข้าพื้นที่สำรวจและติดตั้งแท่นหลุมผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าการผลิตจะยังไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ว่าภายในธันวาคม 2566 จะสามารถผลิตก๊าซได้ที่ระดับ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก็ตาม จากปัญหาทางเทคนิค แต่ปตท.สผ.เชื่อมั่นว่าระยะเวลาที่เหลือจะสามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม หาก ปตท.สผ. ไม่สามารถรักษาระดับการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังเดือนเมษายน 2567 ได้ ปตท.สผ. จะไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทน ขายในราคาเดียวกับก๊าซในแหล่งเอราวัณ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ทางหนึ่ง เพื่อไม่ส่งต่อภาระค่าไฟฟ้าไปยังประชาชน โดยปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีในรูปแบบ spot อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูแล้ว

ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เห็นว่า หากใช้หลักการคำนวณค่าเอฟทีของงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 มาเป็นฐานการคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ค่าไฟฟ้ามีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้ หากการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณเป็นไปตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบ spot ที่มีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทยลงได้ระดับหนึ่ง ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลงได้

ไม่เช่นนั้นแล้ว ปตท.สผ. ต้องจ่าย Performance Guarantee 5,000 ล้านบาท หากไม่สามารถผลิตและส่งมอบก๊าซจากแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญาต่อเนื่อง 90 วัน และต้องจ่ายค่าปรับ (shortfall) 10% ของมูลค่าก๊าซที่ต้องส่งมอบตามสัญญา

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 จะปรับลดลงได้เท่าใดนั้น คงต้องฝากความหวังความเป็นมืออาชีพของปตท.สผ.ที่ออกไปลงทุนทั่วโลก ว่าจะสามารถเร่งผลักดันการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณให้ได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้ได้ เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน