“3 ตรึง” ก็ดึง “กำลังซื้อ” ไม่ฟื้น

24 ธ.ค. 2566 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2566 | 16:05 น.
703

“3 ตรึง” ก็ดึง “กำลังซื้อ” ไม่ฟื้น บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3950

ภาวะสังคมไทยยังตกหลุมดำ เมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2566 ยังพุ่งปรี๊ดแตะที่ 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% คิดเป็น 90.7% ของจีดีพี ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้กลับปรับลดลง ซึ่ง 2 ปัจจัยหลักที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ รายได้ของภาคการเกษตรที่ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย และการแบกภาระหนี้ตั้งแต่เกิดโควิด-19 สรุปคือภาพรวมของคนไทยรายจ่ายยังสูงกว่ารายรับ

การจะกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือ คนไทยต้องมี “เงิน” ในกระเป๋าก่อน เมื่อ “รายรับ” ยังเท่าเดิม แต่ “รายจ่าย” กลับสูงขึ้น และเป็นรายจ่ายภาคบังคับ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงตกเป็นหน้าที่ของ “ภาครัฐ” ที่ต้องเข้ามากำกับดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้เลยเถิด

มาตรการ “3 ตรึง” ที่รัฐบาลคลอดออกมา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ตรึงแรก “ก๊าซหุงต้ม” กำหนดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2567 โดยกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ฐานะเงินกองทุนฯ ติดลบเพิ่ม 2,000 ล้านบาท และมียอดติดลบสุทธิ 47,764 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567

ตรึงสอง “นํ้ามันดีเซล” กำหนดราคานํ้ามันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ตรึงสาม “ค่าไฟฟ้า” รอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วย จำนวน 17 ล้านครัวเรือน และ 4.20 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มใช้ไฟเกิน 300 หน่วย จากเดิมที่การจัดเก็บค่าไฟฟ้ากำหนดอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย

การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม นํ้ามันดีเซล รวมถึงค่าไฟฟ้า ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนคนไทย และส่งผลต่อค่าครองชีพ แต่คำถามคือ “จะช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับคนไทยได้จริงหรือ”

เพราะการตรึงราคาทั้ง 3 กลุ่ม ถูกจำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค แต่สำหรับผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาคการผลิต ต่างต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้นจากราคาก๊าซหุงต้ม นํ้ามันดีเซล รวมถึงค่าไฟฟ้า ที่ปรับขึ้นไปแล้ว ยังไม่นับรวม ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงที่ปรับขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้น สุดท้าย “ราคาสินค้า” ที่วางจำหน่ายก็ต้องสูงขึ้นเป็นโดมิโน

“3 ตรึง” ที่รัฐบาลดึงไว้ เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน ตามด้วย “ค่าแรง” ที่ปรับขึ้น ชั่วโมงนี้บอกได้เลยว่า ยังไร้แรงกระตุ้นให้ “กำลังซื้อ” ผู้บริโภคสูงขึ้นได้