energy

กกพ.แนะรัฐเจรจา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา"ให้จบใน 5 ปี รับเทรนด์ไฮโดรเจน

    กกพ.แนะรัฐเจรจา"พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา"ให้จบใน 5 ปี รับเทรนด์ไฮโดรเจน พร้อมใช้ท่อส่งก๊าซเดียวกับแหล่งเอราวัณ เพื่อลดการลงทุน ชี้ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงาน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากแนวโน้มไฮโดรเจนที่เริ่มมาแรง ประเด็นการเจรจาการหาข้อยุติพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (โอซีเอ) หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่ หากเป็นไปได้ควรได้ข้อสรุปภายใน 5 ปีจากนี้ 

ทั้งนี้ เพื่อให้ช่วงเวลาการใช้สอดรับกับการมาของไฮโดรเจน และควรใช้ท่อส่งก๊าซเดียวกับแหล่งเอราวัณ เพื่อลดการลงทุน เพราะท่อก๊าซดังกล่าวรองรับอยู่แล้ว สะดวกต่อการขนส่งมาไทย ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงาน จำเป็นต้องวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว Energy Transition รวม 4 ด้าน คือ 1.การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ อาทิ พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ 

,2.การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม

,3.การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ไทยได้เปรียบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เป็นประเทศเกษตรกรรมผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ มีภูมิประเทศเชื่อมสปป.ลาว รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่น พัฒนาเป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย 

และ4.การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นที่ต้องการของทั่วโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า อาจเข้ามาทดแทนก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปกำลังเดินหน้าเน็ตซีโร่จึงประกาศใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น อย่างประเทศเยอรมนีเดินหน้าทำท่อขนส่งไฮโดรเจนแทนก๊าซ 

แนวทางนี้คาดว่าอนาคตไฮโดรเจนจะมาแน่นอน ประกอบกับการค้าโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน จึงเลี่ยงการใช้เชื้่อเพลิงฟอสซิลให้มากที่สุด เมื่อเทรนด์โลกเป็นเช่นนี้จะบีบให้ประเทศไทยต้องใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า และจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีลง 

ดังนั้นรัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต้องวางแผนเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมการสร้างคลังไฮโดรเจน ทั้งไฮโดรเจนเหลว และแอมโมเดียซึ่งเป็นไฮโดรเจนในรูปของก๊าซ