"TCMA" รุกยกระดับเหมืองปูนซีเมนต์ มุ่งเป้า "Net Zero" ปี 93

05 ก.พ. 2567 | 11:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2567 | 11:34 น.

"TCMA" รุกยกระดับเหมืองปูนซีเมนต์ มุ่งเป้า "Net Zero" ปี 93 เกินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือภาครัฐนำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ต่อการปรับปรุงนโยบาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการทำเหมือง

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA จะดำเนินการยกระดับการทำเหมืองปูนซีเมนต์ โดยแนวทางแรก เป้าหมายเดินหน้าสู่ Smart and Green Mining เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตามแผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593

ส่วนแนวทางที่สอง TCMA จะร่วมมือกับภาครัฐ ในการนำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ต่อการปรับปรุงนโยบาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง เพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลดำเนินงาน อันจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาแหล่งแร่ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ TCMA จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนยกระดับการทำเหมืองของไทยสู่ Smart and Green Mining เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560  

"TCMA" รุกยกระดับเหมืองปูนซีเมนต์ มุ่งเป้า "Net Zero" ปี 93

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาเหมืองอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โดยมุ่งส่งเสริมการทำเหมืองให้มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Smart Mining) ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญตลอดต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเหมืองแร่สีเขียว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน (Land Rehabilitation featured in Sustainability) ตัวอย่างเช่น

โครงการเขาทับควายเพื่อชุมชน ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พัฒนาขุมเหมืองเก่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ ปลูกไม้ท้องถิ่น สร้างพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเหมืองแร่เหล็กโบราณ พร้อมจุดชมทัศนีภาพเขาทับควายในมุมกว้าง เป็นต้น