จากประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง “การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” ที่นำหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ มีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายน 2566
พร้อมเตือนผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย ต้องรายงานการจัดการของเสียภายในกำหนด ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท
มร. อิชิโร คูริฮาระ ประธานบริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า NEC ได้ออกแบบโครงสร้างและระบบที่สามารถช่วยรองรับภาคอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนให้สามารถบริหารและจัดการ รวมถึงติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรม หรือขยะและสิ่งเหลือใช้ ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม โดยที่ระบบนี้จะมีความสามารถติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งอย่างผิดกฎหมาย โดยอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่และความเชี่ยวชาญของ NEC ในการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม ลดการลักลอบทิ้งแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งการเก็บข้อมูลการเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อการบริหารจัดการในอนาคต ด้วยโซลูชันและความเชี่ยวชาญในระบบบริหารและจัดการข้อมูลอย่างครบวงจร เพื่อความปลอดภัยของสังคมและสิ่งแวดล้อมของไทย
“โดยเบื้องหลังของระบบติดตามกากอุตสาหกรรมนี้ นอกจากการนำเอาความเชี่ยวชาญของ NEC ในโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการจัดการสิ่งแวดล้อม มาออกแบบระบบฐานข้อมูล การอนุญาต รวมถึงระบบติดตามการเคลื่อนไหวแบบ Real time แล้ว บริษัทฯ ยังนำเอาความเชี่ยวชาญทางด้าน Sustainability หรือการจัดการอย่างยั่งยืนมาใช้ เพื่อให้ระบบดังกล่าว สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนควบคู่กันอีกด้วย” มร. อิชิโร คูริฮาระ เผย
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ. มีแนวคิดและเริ่มพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real – Time มาตั้งแต่ปี 2562 โดยนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถติดตามตรวจสอบ รวมถึงเข้าสกัดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมแบบผิดกฎหมายได้อย่างทันท่วงที ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม เนื่องจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุดที่มีการปรับปรุงใหม่ เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังดำเนินการระยะที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2565 โดยขยายผลครบทั้ง 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้วเมื่อเดือนก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งระยะที่ 2 กนอ.ได้เพิ่มเติมในส่วนของการแสดงข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุกกากของเสีย และน้ำหนักกากของเสียพร้อมป้ายทะเบียน ซึ่งทำให้การติดตามตรวจสอบมีข้อมูลครบถ้วนมากที่สุด
“ระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real-Time ของ กนอ. ที่ใช้โซลูชันของ NEC จะเสริมให้การติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดภาพใหม่ของการสร้างอุตสาหกรรมที่สะอาด รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจยยุคใหม่แบบ BCG Economy และการเดินหน้าเพื่อรับกับ Carbon Neutral เพื่อสิ่งแวดล้อมของโลก” นายวีริศ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง