zero-carbon

“บิ๊กเอกชน” ขานรับ Net Zero โอกาส-ความท้าทายโลกธุรกิจ

    “ภาวะโลกร้อน” ปลุกเอกชนตื่นตัว ปรับกลยุทธ์ขานรับ Net Zero ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนและลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ชี้เป็นโอกาสและความท้าทายโลกธุรกิจทุกอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จาก “ภาวะโลกร้อน” ที่กำลังเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” กลายเป็นสัญญาณเตือน ว่าวิกฤตกำลังแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ขณะที่ทั่วโลกต่างเร่งเดินหน้าเพื่อบรรลุ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ผู้ประกอบการไทยในทุกภาคส่วนต่างก็ตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้น และเป็นความท้าทายของธุรกิจ

งานสัมมนา “Road To NET ZERO โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ได้นำเสนอมุมมองในหัวข้อ “Net Zero-Carbon Credit ความท้าทายกับโอกาสทางธุรกิจ” ได้อย่างน่าสนใจ

ตั้งวงเงินหนุนธุรกิจ EGS

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรี ตั้งเป้าเป็น NET ZERO ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จากเป้าหมายนโยบายประเทศที่ตั้งไว้ภายใน 2065 ( พ.ศ.2608 ) โดยพอร์ตสินเชื่อภายในปี 2050 ต้องเป็น NET ZERO ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อในอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สินเชื่อที่ช่วยชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย

โดยได้ตั้งวงเงินสินเชื่อเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (ESG) ในวงเงิน 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573 ) และปรับนโยบายลดหรือไม่เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน (ไม่รวมโรงไฟฟ้าประเทศอื่น ๆ) อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง โดยพยายามที่ลดสินเชื่อกลุ่มนี้ให้เป็นศูนย์ตามเป้าหมายที่กำหนดในปี 2030

นอกจากนี้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อจะเพิ่มมิติ ESG เข้าไปใช้ในการตัดสินใจ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1.ธุรกิจที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน ฯลฯ

2.ธุรกิจที่อิงตามนโยบายที่ทางการไทยประกาศ อาทิ สีแดง : ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง, เหลือง-ส้ม ต้องพึ่งระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

3 กลุ่มธุรกิจที่ธนาคารต้องการเน้นและส่งเสริม เช่น BIODIVERSITY (ความหลากหลายทางชีวภาพ) กิจการที่ลงทุนส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีศักยภาพมากขึ้น ฯลฯ

 

สินเชื่อสีเขียวเพื่อ SME

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า ธสน.มีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง green finacing จากเป้าหมายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภาครัฐกำหนดว่าต้องเข้าสู่“Carbon Neautrality” และต้องเพิ่มพอร์ตสินเชื่อ “สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (ESG )” ภายในปี 2573 ให้ได้ 50%

แต่ปัจจุบันธสน.สามารถสร้างพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ที่ 30% และคาดว่าภายในปี 2571 จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวให้เป็น 50% ของพอร์ตรวม และจากแนวโน้มจากดีมานด์สินเชื่อสีเขียวที่เติบโตเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10% เทียบสินเชื่อปกติทั่วไปที่โตปีละ 4-5% เชื่อว่าจะช่วยดึงต้นทุนจากการระดมทุนผ่านกรีนบอนด์ให้ราคาลดลง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ทั้งนี้ในปี 2565 ธสน.ได้ออกกรีนบอนด์ วงเงิน 5,000 ล้านบาท นำไปสร้างผลิตภัณฑ์การเงิน ออกสินเชื่อ “EXIM Green Start” ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 5.00% ต่อปี รวมถึงบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว โดยเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินในระยะเริ่มต้นที่ยังมีความเสี่ยง ให้ผู้ประกอบการในช่วง 3 ปีแรก

หนุนคนขับลดปล่อยคาร์บอน

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา 92% การปล่อยคาร์บอนของแกร็บ มาจากพาร์ทเนอร์คนขับซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้มากกว่ารักษ์โลก แกร็บจึงได้ออกแบบโครงการสนับสนุนให้พาร์ทเนอร์คนขับในการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านโครงการเปลี่ยนการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบ ICE (เครื่องยนต์สันดาบ)ไปเป็นรถ EV โดยเปิดให้พาร์ทเนอร์คนขับที่มีอยู่หลายแสนราย สามารถเช่าใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านแอปฯ แกร็บได้

วรฉัตร ลักขณาโรจน์

นอกจากนี้ยังร่วมกับผู้ผลิตรถ EV นำข้อมูลพื้นที่ที่มีพาร์ทเนอร์คนขับหนาแน่น มาออกแบบติดตั้งจุดให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2569 จะมีพาร์ทเนอร์ ราว 10% หรือหลายหมื่นรายเปลี่ยนมาใช้รถ EV

 

ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์ และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า AIS มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งลดมลพิษและจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในแกนของโอปอเรชัน มีอาคารสีเขียวให้บริการคอลเซ็นเตอร์ มีการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเครือข่ายควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ AIS ยังได้นำเทคโนโลยีมาสร้างให้เกิด Smart Customer, สร้าง Smart Factory และ Smart Logistic

สายชล ทรัพย์มากอุดม

ด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการ อุปกรณ์โดยมีการนำอุปกรณ์เก่ามาซ่อมบำรุง และนำมาใช้ใหม่ในส่วนงานที่เหมาะสม นำมารีไซเคิลและการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในวิธีการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ประเทศไทยมีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ 439,405 ตันต่อปี ในปี 2562 มีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีถูกต้อง 7% และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2565 แต่ยังมีอีก 90% ที่จัดการอย่างไม่ถูกต้อง AIS จึงได้จัดทำโครงการ AIS E-waste

 

ทุ่มรง.ไฟฟ้าพลังงานขยะ

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอโพลีนเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า นับจากนี้จนถึงปี 2026 จะเติมโซลาร์ฟาร์ม (solar farm) และวินด์ฟาร์ม อีก 85 เมกกะวัตต์ และอีก 420 เมกะวัตต์ จะเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะ ภายในปี 2026

โดยโซลาร์ฟาร์ม 3 ฟาร์มและวินด์เทอร์บาย 5 เมกะวัตต์ จะติดตั้งทั้งหมดจะทยอยเสร็จในปี 2024-2025 ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งสิ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าขยะ มี 3 โปรเจ็กต์รวมกัน ใช้เม็ดเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่ได้ลงทุนไปกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Net Zero

ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์

สำหรับความท้าทายของการเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว คือ ตลาดคาร์บอน ซึ่งราคาซื้อขายต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (EU) จะอยู่ที่ราว 80 ยูโร ส่วนจีนจะอยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ราคาของประเทศไทยไม่ได้ถึงเศษเสี้ยวของประเทศเหล่านั้น การที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนเพื่อเป็น Net Zero ภาครัฐจะต้องมีแรงจูงใจมีการลงโทษสำหรับผู้ที่ยังไม่ทำและให้รางวัลสำหรับผู้ที่ดำเนินการอย่างจริงจัง

 

MQDC ย้ำเร่งกู้โลกวิกฤต

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) กล่าวว่า ปัจจุบันเรากระทำชำเรากับโลกที่มนุษย์อยู่ เราทำลายสัตว์ อื่นตาย สิ่งที่ตามมาคือ พืชสูญพันธุ์เราไม่มีอาหาร ตอนนี้เรากำลังทำลายโซนที่มนุษย์อยู่เป็นโซนที่ถูกทำลาย 50% แค่เพียง 50 ปีที่ผ่านมาหายไป ถ้าไม่แก้จะหายไปและสูญพันธ์เหมือนไดโนเสาร์

“บิ๊กเอกชน” ขานรับ Net Zero โอกาส-ความท้าทายโลกธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพูดถึงมากที่สุดนั้นคือ คาร์บอนต้องเป็นลบ ไม่เพียงแค่เป็นศูนย์ เพราะหากอุณหภูมิมันขึ้นสูงเร็วมากและกำลังจะทะลุ 1.2 องศาที่เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 1.5 องศา และหากอุณหภูมิขึ้น 3 องศา จะเกิดภัยแรงรุนแรงและ มีปัญหาตามมา ดังนั้นตอนนี้เรามี 3 สเตป 1. Measure 2. Reduce 3. Remove โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่ได้ศึกษามาและได้เห็นเป็นรูปธรรม คือโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ ที่มีป่าแทรกอยู่ในที่อยู่อาศัย มีเทคโนโลยีส่งน้ำเย็นใต้พื้นดินเพื่อทำให้อาคารไม่ต้องใช้คอมเพรสเซอร์ใช้น้ำเย็นแทนลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

 

ดันเป้าหมาย NET ZERO

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า แสนสิริมีเส้นทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้ก้าวเดิน เป็น NET ZERO โดยปีนี้สามารถลดก๊าชเรือนกระจกได้ 7% คือลดใช้พลังงานในออฟฟิศ เรื่องของการใช้น้ำมัน โดยเป้าหมายในปี 2025 ต้องการลดก๊าชเรือนกระจกให้ได้ 20% ปี 2033 จะลดคาร์บอนให้ได้ 50% และปี 2050 คาร์บอนเป็นศูนย์ อย่างน้อยเราก็ก้าวเดินทีละก้าว

อุทัย อุทัยแสงสุข

สำหรับกลยุทธ์ของแสนสิริ แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง

1. การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำผลิต คาร์บอน จากการปรับตัวเองเพื่อให้ปริมาณคาร์บอนออกสู่บรรยากาศน้อยลง 2. วัสดุก่อสร้าง รวมถึงการส่งมอบลูกค้า

3. การลงทุน ในแง่ของการใช้พลังงานในบ้าน

แสนสิริเป็นบริษัทแรกที่ติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์ในคอนโดมิเนียมมาตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจุบันติดตั้งอีวีชาร์จ 463 จุด ในโครงการบ้านจัดสรร และกระจายเข้าไปในบ้านพักอาศัยเพราะรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการตอบรับค่อนข้างสูงเติบโตมาเกือบ 100% เราพยายามเปลี่ยนอินฟราสตรัคเจอร์ เข้าไปในที่อยู่อาศัยที่ขายให้กับลูกค้าและตั้งเป้าหมายว่าในปี 2025 จะติดอีวีชาร์จเจอร์ เข้าไปในโครงการบ้านจัดสรร ทุกหลัง เป็นต้น