จับสัญญาณ Future food โอกาสทุนไทยพัฒนา “แพลนต์เบส” รับเทรนด์โลก

08 ก.ย. 2566 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 13:13 น.

สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยชี้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอส่งผลตลาด Future food ชะงัก คาดเติบโต 0-2% ขณะที่ “แพลนต์เบส” คือโอกาส และเป็นแรงส่งโลคัล ฟู้ด “เอสเอ็มเอส” แนะเคล็ดลับผู้ประกอบการไทยควรลดต้นทุน มั่นใจ 15 ปี ดันส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบันมีแค่ 2%

กลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับ ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน และส่งสัญญาณเตือนการก้าวสู่ “วิกฤตอาหารโลก” (Global Food Crisis) ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ประเมินว่าสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก จะทำให้มนุษย์ขาดแคลนอาหาร

จนกระทั่งอาหารหมดโลกภายในปี 2593 การเร่งผลิตอาหารเพิ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งในนั้นคือ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ Future Food ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ ซึ่งพบว่าในช่วง 4-5 ปี ได้รับความสนใจและมีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอนาคต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเติบโตของอาหารแห่งอนาคต หรือ Future food แต่ละปีนับถอยหลังไป 5 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยเติบโตปีละ5% และในปีที่ผ่านมาเติบโตเกือบ 10% แต่สำหรับปีนี้คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออาจเติบโตสูงสุด 2%

เพราะเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว การสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงก็จะชะลอไปด้วย ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้ภาพโดยรวมอาหารอนาคตจะเติบโตไม่มากนัก แต่ในส่วนของอาหารปกติยังไปได้ดี ขณะที่ในปีที่แล้วภาพรวมของสินค้าอาหารทั้งหมดเติบโตได้ 20% จากการฟื้นตัวหลังโควิดของร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น

จับสัญญาณ Future food โอกาสทุนไทยพัฒนา “แพลนต์เบส” รับเทรนด์โลก

ทั้งนี้ในพอร์ตของประเทศไทยแบ่งเซ็กเมนต์ Future food ประกอบไปด้วย อาหารส่งเสริมสุขภาพ (Functional Foods), อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Foods), อาหารทางการแพทย์ (Medical foods) และอาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ด้วยนวัตกรรม (Nova foods) โดยสัดส่วนสูงสุดและเติบโตดีที่สุดอยู่ในกลุ่ม Functional Foods จากการเติบโตของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโพรไบโอติกและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ

รวมถึงในส่วนของ Plant based food เองยังมีเติบโตเช่นเดียวกัน ส่วนอาหารจากแมลง วันนี้เริ่มเห็นภาพการนำแมลงบดเป็นผงแล้วนำไปผสมในอาหารอื่น แต่ยังต้องใช้เวลาในการให้ความรู้เพราะประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะตะวันตกยังไม่รู้จักแมลงในเชิงของอาหารคน การเติบโตของกลุ่มนี้จะเริ่มเห็นเมื่อคนมีความรู้มากขึ้น หรือมีการขึ้นทะเบียนเป็น Nova foods ใหม่ได้เรื่อยๆ ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตดีกว่า

ทั้งนี้ในระยะสั้น 3-5 ปี มองว่าในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำการผลิต Future foodในไทยเริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพอสมควร เช่นอุตสาหกรรมไก่หรือปลา นอกจากผลิตอาหารคนซึ่งในหลายๆประเทศอาจจะมีการควบคุมราคา เริ่มนำวัตถุดิบที่เหลือในบายโปรดักท์ มาทำอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งทำราคาได้ดีกว่าอาหารคนซึ่งเป็นเทรนด์ของทั้งโลกไม่ใช่แค่ของประเทศไทย

จับสัญญาณ Future food โอกาสทุนไทยพัฒนา “แพลนต์เบส” รับเทรนด์โลก

“Future food ที่อยู่ในโฟกัสและผู้ประกอบการทำกันเยอะคือ 1. โปรตีนสูง 2. ไฟเบอร์สูง และ functional food ซึ่งแต่ละประเทศจะลงลึกไปถึงวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยโดยใช้ Food west Management เข้ามาช่วยและสามารถลงลึกไปถึงเรื่องของ Food Loss เริ่มมีการนำบายโปรดักต์ เช่น ลำต้นหรือราก ที่ไม่เคยคิดใช้งานต้องนำไปทิ้งหรือทำลายจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาเปลี่ยนเป็นเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการวิจัยพัฒนาและลงลึกสกัดสารสำคัญออกมาใช้ได้จะสามารถขายในราคาที่แพงกว่าผลิตที่ส่งเข้าโรงงานด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณนี้มากขึ้น”

นอกจากนี้ นายวิศิษฐ์ ยังมองว่า การขยายตัวของอาหารอนาคตยังเป็นแรงหนุน Local Food สู่ Future food ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถต่อยอดได้ใน 2 แง่มุมคือ 1. Ready to eat ตอนนี้เริ่มมีเมนู Plant base หรือ incept base อาหารไทย เช่น ลาบทอดหรือต้มยำ รวมทั้ง Micro base ซึ่งในกลุ่ม Prebiotics หรือ Probiotics ที่เติบโตอย่างมาก ดังนั้นยังมีโอกาสในการนำจุลินทรีย์มาผลิตโปรตีน และในไทยมีสาหร่ายหลายๆชนิดที่มีคุณค่าทางโปรตีนค่อนข้างสูงเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นให้สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

“โอกาสของไทยที่เห็นชัดๆ คือ แพลนต์เบส ซึ่งวัตถุดิบ 60%-70% มาจากถั่วเหลือง ที่เหลือเป็นธัญพืชชนิดอื่นที่มาเป็นส่วนผสมซึ่งส่วนใหญ่เป็นตระกูลถั่วที่มีโปรตีนสูง แต่ตอนนี้ในไทยเริ่มมีแพลนต์เบส ที่มีส่วนผสมจากขนุนอ่อน ซึ่งเราสังเกตมาหลายปีไทยมีการส่งออกขนุนอ่อนกระป๋องมากขึ้น

เพราะต่างประเทศนำไปผลิตอาหารจากพืชเพราะเนื้อสัมผัสของขนุนอ่อนจะคล้ายๆกับสัมผัสของเนื้อไก่มาก รวมไปถึงหัวปลีเพราะให้เนื้อสัมผัสที่ดีเพียงแต่ 2 ตัวนี้อาจจะมีคุณค่าทางโปรตีนที่ไม่สูง แต่มีไฟเบอร์ เพราะฉะนั้นการที่จะไปทำอาหารจะต้องเติมโปรตีนเข้าไปด้วย

ส่วนในเรื่องของแมลงบ้านเรามีความเก่งในเรื่องของจิ้งหรีด ตอนนี้เริ่มมีการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว เช่น อิสราเอล เข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้โดยใช้หนอนเพราะใช้เวลาแค่ 10 กว่าวัน และนำไปผลิตเป็นโปรตีนและสกัดน้ำมันออกมานำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

จับสัญญาณ Future food โอกาสทุนไทยพัฒนา “แพลนต์เบส” รับเทรนด์โลก

ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานความอุดมสมบูรณ์ในการที่จะทำ Future food ทั้งด้านพืช ด้านแมลง ด้วยมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าไทยเราสามารถไปเส้นทางนี้ได้แน่นอน”

ขณะที่ นายวีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองจากปัจจุบันทะลุไปจนถึงปี 2573 จะเห็นว่า Basic Food มาจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แต่การจะเพิ่มมูลค่าได้สิ่งสำคัญคือเรื่องของอินโนเวชั่น การค้นคว้าหาโอกาส เทรนด์หนึ่งที่จะมาแรงมากในอนาคต

คือเรื่องของโปรตีนซึ่งทั้งโลกอยู่ในระดับ 550 ล้านตัน ขณะที่แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านตัน แต่การสร้างเนื้อโปรตีต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนานเมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืชที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 90 วัน แน่นอนว่าจะต้องนำมาสกัดและแยกออกมาเป็นโปรตีน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันแพลนต์เบสไม่ค่อยประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับมากนัก ซึ่งนายวีรวัฒน์ มองว่า แพลนต์เบส ปัจจุบันที่วางขายผู้ผลิตมีความพยายามที่จะไม่ให้มีเนื้อสัตว์เลย ทำให้ต้องใส่อินกรีเดี้ยนจำนวนมากให้เพียงพอที่จะเป็นเนื้อได้ แต่รสชาติยังไม่อร่อย ขณะเดียวกันสัดส่วนของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลยบนโลกนี้มีแค่ 1-2% เท่านั้นเอง แต่คนที่กินทั้งเนื้อสัตว์และเนื้อพืชมีเกือบ 100%

วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา

“เคล็ดลับการทำให้แพลนต์เบสประสบความสำเร็จอยู่ที่การนำเนื้อสัตว์กับเนื้อโปรตีนพืชเข้ามาผสมกันด้วยคอนเซปท์แบบนี้ตลาดหรือผู้บริโภคจะรับได้มากกว่าและต้นทุนการผลิตถูกกว่ากันเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเรามองไปข้างหน้า ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 2% ของแพลนต์เบส แต่ในอนาคตอีกประมาณ 15 ปีหลังจากนี้เชื่อว่าแพลนต์เบสจะเติบโตขึ้นเร็วมากจนมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10% เพราะฉะนั้นนี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราควรจะให้ความสนใจมากๆ”

ประเด็นก็คือโปรตีนจากพืชในไทยเรามีจุดอ่อน คือไม่มีผู้ผลิตโปรตีนพืชในประเทศและนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ปีละนับหมื่นตัน ดังนั้นเราจะเห็นว่ามีโอกาสในการทำตลาดอยู่ แต่ในที่สุดแล้วการผลิตโปรตีนภายในประเทศก็ต้องการพืชตระกูลถั่วภายในประเทศ ประเด็นก็วกกลับมาที่พืชตระกูลถั่วในประเทศมีน้อย วันนี้ไทยสามารถผลิตถั่วเขียวได้ประมาณแสนตัน ขณะที่ทั่วโลกถั่วเขียวมีประมาณ 5.5 ล้านตัน 1 ใน 3 อยู่ที่เมียนมาร์และอีก 1 ใน 3 อยู่ที่อินเดียนอกนั้นกระจายอยู่ในอินโดนีเซียและจีน

สิ่งที่น่าสนใจคือพืชตระกูลถั่วใช้เวลาในการผลิต 90 วันและปลูกหลังทำนาได้และนำมาสกัดเป็นโปรตีน ซึ่งในอนาคตมีโอกาสอย่างมากสำหรับเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการโปรตีนจากพืช

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,920 วันที่ 7 - 9 กันยายน  พ.ศ. 2566