บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) และยังได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 % ภายในปี 2573 และ 50 % ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563)
การขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และกังหันลม และการหาโอกาสในการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ รวมทั้ง การสร้างสมดุลด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายสะสมกว่า 2 ล้านตันในปี 2593 เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) 2564 พื้นที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย และการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานสำคัญของ ปตท.สผ. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของบริษัท
ปัจจุบันโครงการ CCS พื้นที่แหล่งอาทิตย์ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจลงทุน คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ได้จริงในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000- 1,000,000 ตันต่อปี
อีกทั้ง อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ หรือ CCS Hub Model ที่เริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง
รวมถึง อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของมาเลเซีย
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวในงาน ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยกำหนดเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 หากจะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ให้ได้ประมาณ 40 ล้านตัน เพราะปัจจุบันการผลิตอุตสาหกรรมพลังงานมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 250 ล้านตันต่อปี เมื่อเทียบทั้งประเทศปล่อยอยู่ 350 ล้านตันต่อปี
ขณะที่การปลูกป่า 1 ล้านไร่สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซ์ได้ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้นจะต้องปลูกป่าให้ได้ 160 ล้านไร่ ประเทศไทยทั้งประเทศมีป่าอยู่ 321 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนประเทศไทยครึ่งประเทศเป็นป่า และจะต้องมีการดูแลสภาพป่าให้คงอยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งพาการปลูกป่าเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าภาครัฐจะใช้นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ต้นทุนยังสูง และยังไมสามารถเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมทั้งระบบเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้ทั้งหมด หากไม่ดำเนินการ CCS ไทยจะไม่สามารถบรรลุ Net Zero ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ดังนั้น สิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเวลานี้คือ เทคโนโลยี CCS ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีเดียวที่มีประสิทธิภาพโดดเด่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมากในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือ 1.Technology & Cost ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยี CCS มีโครงการทั่วโลก 350 โครงการ ที่พัฒนาแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษา ทั้งอเมริกา ยุโรป แต่ปัญหาคือ ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ 2.Economic & Incentive การดำเนินการจะต้องมีมูลค่า ต้องมีผลตอบแทน เพราะลงทุนสูงไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การนำผลประโยชน์เรื่องของคาร์บอน เครดิตจึงสำคัญ ภาคนโยบายจึงต้องทำให้ชัดเจน
3.Environment & Public ซึ่งคาร์บอน เครดิต ต้องระบุชัดเจนว่า ภายหลังจัดเก็บแล้วจะต้องวัดปริมาณ พร้อมยืนยันให้ได้ว่าอยู่ในที่จัดเก็บจริง พร้อมกำหนดกฎหมาย เรื่องภาระผูกพันหลังจากทำแล้ว และ 4. Regulation & Liability ซึ่งวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะทำ และทำแบบไหน จะมี Policy อย่างไร ถือเป็นอุปสรรคที่อยากเห็นการแก้ไข
“ทั่วโลกมีการเรื่องของคาร์บอนเครดิต มีการคำนนวณและมีการเปิดให้ซื้อขายได้ ดังนั้นนโยบายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยจะต้องมีความชัดเจนเรื่องของผลตอบแทน จึงจะทำให้เกิดการลงทุน”
สรุปโครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง