zero-carbon
657

ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับเทคโนโลยี CCUS ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน

    ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับ เทคโนโลยี CCUS ใช้ดักจับ และกักเก็บคาร์บอน หลังรัฐบาลพยายามหาทางผลักดันเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

"เทคโนโลยี CCUS" หรือ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน  หรือ Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และรัฐบาลเองกำลังพยายามศึกษา และเตรียมความพร้อมผลักดันเทคโนโลยีรูปแบบนี้มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

ไม่นานมานี้ กระทรวงพลังงาน ได้เสนอวาระเรื่องของการดำเนินการด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เข้ามาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารับทราบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ภาพประกอบข่าว เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

เทคโนโลยี CCUS คืออะไร

กระทรงพลังงาน อธิบายรายละเอียด และแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของการนำเทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดและนำไปกักเก็บถาวรในชั้นหิน ทางธรณีวิทยาใต้ดิน (Geological Formation) เพื่อนำไปสู่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2583 ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ตามแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยเทคโนโลยี CCUS จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในปี 2583 ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย 

  1. ด้านเทคนิค (Technical Framework) 
  2. ด้านข้อกำหนดและกฎหมาย (Regulatory Framework) 
  3. ด้านการค้าและมาตรการจูงใจ (Commercial and Incentive) 
  4. ด้านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder Engagement) 

กระทรวงพลังงาน โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันศึกษา สำรวจ วิจัยข้อมูลธรณีวิทยา กฎหมายและกฎระเบียบ ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อเนื่อง

 

ภาพประกอบข่าว เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

วิธีการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ประโยชน์

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีภารกิจการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยการกำกับดูแลกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากชั้นหินกักเก็บใต้ดินที่ระดับความลึก มากกว่า 1,000 เมตร ซึ่งแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ไม่มีการไหลเชิงพาณิชย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่ออัดคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับกักเก็บแบบถาวร (Permanent Storage) ในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมดังกล่าว 

นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลการผลิตไฮโดรคาร์บอนจากชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม (Enhanced Hydrocarbon Recovery: EHR) อย่างมีระบบและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีความมั่นคงทางด้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 

การผลักดันเทคโนโลยี CCUS

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้หารือร่วมกันกับสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน ด้าน CCUS โดยรวบรวมโครงการ CCUS ซึ่งครอบคลุมการดักจับ การทำให้บริสุทธิ์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน จำนวน 21 โครงการจากภาครัฐและภาคเอกชน 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำการประเมินความจุของชั้นหินเพื่อใช้กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งผลิต ปิโตรเลียมในประเทศไทยคาดว่าจะมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 2,687 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ทราบปริมาณที่แท้จริงสำหรับความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป

อีกทั้งทำการศึกษาชั้นหินทางธรณีวิทยาเบื้องต้นที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการศึกษา เพื่อจัดทำร่างระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทย (Geological Formation) ภายใต้พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินการด้าน CCUS ด้วย

 

ภาพประกอบข่าว เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

 

รัฐบาลดันใช้กับปิโตรเลียม-ผลิตไฟฟ้า

ทางฝ่ายรัฐบาลเอง ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า เทคโนโลยี CCUS เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ พร้อมทั้งมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้ทำการศึกษา โดยจะใช้ในภาคการผลิตปิโตรเลียมและการผลิตไฟฟ้าก่อน 

สำหรับในภาคการผลิตปิโตรเลียมได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ไปศึกษาลักษณะธรณีวิทยาใต้ทะเลที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณมาก ซึ่งขณะนี้ได้พบบางพื้นที่ที่มีศักยภาพแล้ว และเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่จะให้ทุนสนับสนุนซึ่งถือว่ามีคามเป็นไปได้สูง

ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องมีการกักเก็บคาร์บอน ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปศึกษาการกักเก็บใต้ดินแหล่งแม่เมาะที่จังหวัดลำปาง ซึ่งอาจมีพื้นที่ใกล้เคียงที่กักเก็บคาร์บอนได้เช่นกัน

หากทำได้สำเร็จ จะสามารถยืดอายุการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป โดยการเก็บคาร์บอนชดเชยทำให้การปล่อยมลพิษต่ำลงไปกว่าในระดับปัจจุบันซึ่งทำให้ไทยมีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกด้วย