ยุทธศาสตร์ Net Zero ไทย เป้าหมายชัดแต่ปฏิบัติไม่ชัด

07 ก.ย. 2566 | 12:00 น.
939

ยุทธศาสตร์ Net Zero ไทย เป้าหมายชัดแต่ปฏิบัติไม่ชัด : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3920

นับถอยหลังก็จะเหลือระยะเวลาไม่ถึง 30 วัน สำหรับการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทยในหลายภาคส่วน เริ่มตระหนักและตระหนกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากธุรกิจของตัวเองปรับตัวไม่ทัน หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า “CBAM” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย the European Green deal ที่มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

 

โดยมาตรการ CBAM นำมาปรับใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมของต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายใน EU ที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System : EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอก EU ผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรป ยังผ่อนปรนให้ โดยในช่วง 3 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป สินค้านำเข้าของผู้ประกอบการส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน แต่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยัง EU เท่านั้น

หากมองย้อนกลับไป ภาครัฐของไทยเองให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เห็นได้จากการเข้าร่วมเวทีประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)

 

ขณะที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608

และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้ กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC (Nationally Determined Contribution) หรือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยมีทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว

แม้ไทยจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “Action” ยังไม่ชัด ขณะที่หลายประเทศใน EU รวมถึง สหรัฐอเมริกา ต่างมี Action ที่ชัดเจน และถือเป็นกลไกภาคบังคับ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย

วันนี้จึงได้แต่ฝากความหวังว่า “รัฐบาลเศรษฐา 1” จะเร่งเดินหน้า Action ให้เห็นเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนประเทศไทยไม่ให้ตกขบวน