“ไฮโดรเจนสีเขียว”เทพแห่งพลังงานสะอาด ตลาดบูม 410 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2030

06 ก.ย. 2566 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 11:58 น.

“ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ได้รับการขนานนามว่าเป็น ”เทพแห่งพลังงานสะอาด คาดการณ์มูลค่าตลาดสูงถึง 410 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030

เมื่อ “โลกร้อน” ผู้คนก็กำลังร้อนรุ่มไม่ต่างกัน เป็นปัญหารุมเร้ารุนแรงไปทั่วโลก ที่ผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งหาทางออกในการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงมีการลดการปล่อยมลพิษจากพลังงานถ่านหินที่ใช้กันมายาวนานหลายศตวรรษด้วย แม้การเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ใช่เรื่องง่าย "พลังงานทางเลือก" ที่เป็น "พลังงานสะอาด" จึงเป็นกุญแจสำคัญ

ชื่อหนึ่งที่คงได้ยินกันมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น “ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)” ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด ที่น่าจะมาช่วยกอบกู้โลกให้กลับไปสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า และยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองอย่างมาก แม้อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เคยขนานนาม ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ว่าเป็น “เชื้อเพลิงแห่งเสรีภาพ”

นอกจากนี้ไฮโดรเจนสีเขียวยังได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่าเป็นโซลูชั่นพลังงานสะอาดเพื่อกำจัดคาร์บอนออกจากภาคส่วนต่างๆ เช่น การขนส่งและการผลิตทางอุตสาหกรรม

ข้อมูลจาก สำนักข่าว AP ระบุว่า International Solar Alliance ที่นำโดยประเทศอินเดียได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมไฮโดรเจนสีเขียว เมื่อต้นปีนี้ และอินเดียก็อนุมัติมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สำหรับการผลิต การใช้ และการส่งออกไฮโดรเจนสีเขียว ความร่วมมือระดับโลกด้านการผลิตและการจัดหาไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะได้รับการหารือโดย ผู้นำกลุ่ม G20 ในการประชุมสุดยอดซึ่งประเทศอินเดียจะเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2023 

นักวิเคราะห์ ระบุว่า ตลาดไฮโดรเจนสีเขียวทั่วโลก คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 410 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ซึ่งนั่นหมายถึงมากกว่าขนาดตลาดในปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความเห็นจากนักวิจารณ์ ที่บอกว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในวงกว้างเสมอไป และใบรับรองสีเขียวของเชื้อเพลิงนั้นถูกกำหนดโดยแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิต

มีการสัมภาษณ์ Francisco Boshell นักวิเคราะห์พลังงานที่สำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศในอาบูดาบี ถือเป็นการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับบทบาทของไฮโดรเจนสีเขียวในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลมไม่สามารถจัดเก็บและใช้ผ่านแบตเตอรี่ได้ในทางปฏิบัติ เช่น การบิน การขนส่ง และกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางอย่าง

"ความผันผวนของไฮโดรเจน ซึ่งเป็นสารไวไฟสูงและต้องใช้ท่อพิเศษเพื่อการขนส่งที่ปลอดภัย หมายความว่าไฮโดรเจนสีเขียวส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ใกล้กับแหล่งผลิต"

และยังบอกอีกว่า องค์กรของเขาคาดการณ์ว่า ความต้องการไฮโดรเจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 550 ล้านตันภายในปี 2050 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 100 ล้านตัน ส่วนประเด็น การผลิตไฮโดรเจนมีส่วนทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 830 ล้านตันต่อปี เขาบอกว่า การเปลี่ยนไฮโดรเจนสีเทาซึ่งเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จะช่วยรับประกันตลาดไฮโดรเจนสีเขียวในระยะยาว

"สิ่งแรกที่ต้องทำคือเริ่มทดแทนความต้องการไฮโดรเจนสีเทาที่มีอยู่ จากนั้นก็สามารถเพิ่มความต้องการและประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรม การขนส่ง และการบินเพิ่มเติมได้"

ตามรายงานของคณะกรรมาธิการเปลี่ยนพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำพลังงานที่มุ่งมั่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 รายงานว่า ปัญหาการติดไฟและการขนส่ง คือข้อจำกัดการใช้ไฮโดรเจน เช่น เครื่องทำความร้อนในที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยตรงอีกด้วย เพราะพลังงานบางส่วนจะสูญเสียไปเมื่อพลังงานทดแทนถูกแปลงเป็นไฮโดรเจน จากนั้นไฮโดรเจนก็ถูกแปลงเป็นพลังงานอีกครั้ง 

รายงานดังกล่าวระบุถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของไฮโดรเจนในการเป็นทางเลือกแทนแบตเตอรี่สำหรับการจัดเก็บพลังงานขนาดใหญ่และในระยะเวลานาน

ขณะที่การศึกษาอื่นๆได้ตั้งคำถามถึง ต้นทุนการผลิตที่สูง ความเสี่ยงในการลงทุน ความต้องการน้ำมากกว่าพลังงานสะอาดอื่นๆ และการขาดมาตรฐานสากลที่เป็นอุปสรรคต่อตลาดโลก ในประเด็นนี้ 

รายงานของ PwC มีข้อมูลที่คาดการณ์ว่า ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนจะลดลงถึงประมาณ 50% ภายในปี 2030 และจะลดลงไปเรื่อยๆ ในระดับที่ช้ากว่า ไปจนถึงปี 2050 เพื่อให้เห็นภาพมีการยกตัวอย่าง ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณแค่ 1-1.5 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 38-57 บาทต่อกิโลกรัม) เท่านั้น

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้นทุนการผลิตของประเทศในภูมิภาคที่มีทรัพยากรหมุนเวียนจำกัด เช่น บางพื้นที่ในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี คาดว่าประมาณ 2 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 76 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งอาจต้องนำเข้าก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวจากแหล่งอื่น

ไฮโดรเจนสีเขียวคืออะไร ?

“ไฮโดรเจนสีเขียว” (Green Hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เกิดจากกระบวนการ อิเล็กโทรลิซิส ซึ่งเป็นกระบวนการผ่านกระแสไฟฟ้ากระแสตรง จากภายนอกเข้าไปในสารละลายอิเล็กโทรไลต์ แล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี มีองค์ประกอบสำคัญ คือ น้ำ และกระแสไฟฟ้า หากกระแสไฟฟ้าที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจนที่ผลิตได้ เรียกว่าเป็น Green Hydrogen 

ไฮโดรเจนสีเขียวใช้ทำอะไรได้บ้าง ?

ไฮโดรเจนสีเขียวนำไปใช้ได้หลากหลายในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเหล็ก การผลิตคอนกรีต และการผลิตสารเคมีและปุ๋ย ยังสามารถใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งและให้ความร้อนแก่บ้านและสำนักงาน

ปัจจุบัน ไฮโดรเจนถูกนำมาใช้เป็นหลักในการกลั่นน้ำมันเบนซินและการผลิตปุ๋ย แม้ว่าน้ำมันเบนซินจะไม่มีประโยชน์ในโลกที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปุ๋ยซึ่งจำเป็นต่อการปลูกพืชสามารถลดลงได้โดยใช้ไฮโดรเจนสีเขียว

ภาพรวมการผลิตก๊าซไฮโดรเจน

ข้อมูลจาก PwC ระบุว่า ไฮโดรเจนที่ผลิตทั่วโลกส่วนใหญ่เป็น ไฮโดรเจนสีเทา (Grey hydrogen) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ หากไม่มีกลไกกำหนดราคาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ไฮโดรเจนสีเทานั้นจะมีราคาถูกอยู่ที่ 1-2 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือประมาณ 38-77 บาทต่อกิโลกรัม) เเต่ ไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) หรือ การนำพลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน เนื่องจากไฮโดรเจนสีเขียวไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงตอบโจทย์แนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว มีราคาอยู่ที่ราว 3-8 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือประมาณ 115-309 บาทต่อกิโลกรัม) ในตลาดบางประเทศ ซึ่งสูงกว่าราคาของไฮโดรเจนสีเทา

ตลาดผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่น่าสนใจ

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในราคาระหว่าง 3-5 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 115-193 บาทต่อกิโลกรัม) ขณะที่ต้นทุนการผลิตในยุโรปจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 ยูโรต่อกิโลกรัม แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

ข้อมูล 

What is green hydrogen and why is it touted as a clean fuel?

Making the Hydrogen Economy Possible

The Future of Hydrogen

A Critical Review of Renewable Hydrogen Production Methods: Factors Affecting Their Scale-Up and Its Role in Future Energy Generation

pwc

greennetworkthailand

PTT News