zero-carbon

“ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์” ฟื้นป่าชายเลน ปูทางประเทศไทยสู่ Net Zero

    ป่าชายเลน เครื่องฟอกอากาศโลก “ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์” เดินหน้าฟื้นฟูผืนป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero ในระยะข้างหน้า พร้อมหนุนภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับชุมชน

ในงานสัมมนา "Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ" จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป โดยนายธีรพงศ์ สังขอินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวเสวนาหัวข้อ "Behind the Scene Carbon Credit" ว่า ในประเทศไทยปัจจุบันมีพื้นที่ ป่าชายเลน ประมาณ 2.8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ1.7 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ชาวบ้าน นายทุน หรือผู้บุกรุก ที่ยังเป็นข้อพิพาทกับภาครัฐ

โดยงานที่ผ่านมาหน่วยงานราชการได้ ขอความช่วยเหลือ ให้ทาง "ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์" เข้ามาการจัดการ เพื่อดึงพื้นที่ป่ากลับคืนมาจากกลุ่มผู้บุกรุก เพื่อให้ภาครัฐนำมาบริหารจัดการ

ขณะที่อุณหภูมิของโลกมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่รุนแรง (ระบบแอร์โลกใกล้พัง) และจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาลดโลกร้อนได้ ซึ่งจากปัญหาที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหา น้ำแข็งขั้วโลกละลายและมีปริมาณน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

จนทำให้มีฝนตกมากขึ้นในทุกๆปีและไม่มีผืนป่ารองรับปริมาณน้ำฝน ทำให้เวบาเกิดฝนจะตก จะมีปริมาณน้ำจำนวนมากเกินกว่าที่ภาคการเกษตรจะรับไหว หรือเกิดภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงที่ฝนตกทิ้งช่วง หรือที่เรียกกันว่า "เอลนีโญ"

ซึ่งเป็นปัจจัยเชื่อมโยงจากปริมาณน้ำที่มากขึ้น ทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น และรุนแรงขึ้น ทำให้ในพื้นที่ ที่ไม่มีป่าชายเลนถูกกัดเซาะรุนแรง ซึ่งทาง "ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์" อาสาเข้ามาฟื้นฟูในพื้นที่ป่าเหล่านี้ ก็จะดำเนินการไปในระยะเวลา 10 ปีนับจากนี้ ก็จพพยายามทำอย่างเต็มที่

ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ มีประเด็นที่จะต้องแก้ไข เพื่อเดินหน้าสู่ "Net Zero" ของประเทศไทยผ่าน 3 ระบบ ประกอบด้วย 1.)เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย 2.)ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และ 3.)ผลักดันการใช้พลังงาน

แต่โดยหลักของ ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย ทั้งพื้นที่ป่าบก และป่าชายเลน

สำหรับเหตุผลที่เลือกป่าชายเลนนั้น เนื่องจากป่าชายเลน ถือเป็นป่าที่ดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุดในบรรดาป่าทั้งหมด

เพราะป่าชายเลน ถือเป็นตัวกรองของเสีย รวมทั้งขยะ จากพื้นดินสู่ทะเล และจากทะเลสู่พื้นดิน รวมทั้งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกซิเจน เปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศของโลก

"การฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่จะให้กลับมา 100 ไร่ ใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี กว่าจะให้กลับมาได้ แต่การทำลายป่า 100 ไร่ ใช้เวลาสั้นเพียง 1 วัน ขอให้ทุกคนอย่าตัดไม้ทำลายป่าช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ก่อนเพื่อวันข้างหน้า" นายธีรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้หากธุรกิจที่สนใจจะเข้ามาขอคำแนะนำในการ "ปลูกป่า" เพิ่มคาร์บอนเครดิต ทาง ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ จะต้องสอบถามว่าดำเนินธุรกิจอะไร มีความต้องการอะไร 

ซึ่งหากเป็นในบางธุรกิจ ภาครัฐเปิดให้สามารถขอพื้นที่ในการปลูกป่าทดแทนได้ และอากาศที่ได้มายังสามารถนำไปเคลมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

ซึ่งล่าสุดทาง "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ได้มีการออกแบบพื้นที่ป่าชุมชน และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ต้องการพื้นที่ และร่วมกันกับชุมชน ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่า 

รวมทั้งคาร์บอนเครดิตที่ได้ ภาคเอกชนจะได้สัดส่วนถึง 90% ส่วนภาครัฐอยู่ที่ 10% ในการนำไปเคลมเครดิต โดยการลงทุนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่านั้น จะต้องมาจากภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนเท่านั้น