กฟผ.ดัน CCS เหมืองแม่เมาะ เก็บคาร์บอนในชั้นหิน

22 ม.ค. 2566 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 11:03 น.
590

กฟผ.เดินหน้ากักเก็บคาร์บอน ชง METI ของบช่วยศึกษาโครงการกักเก็บคาร์บอนในชั้นหิน เหมืองแม่เมาะ หลังประเมินแล้วมีศักยภาพสูง หนุนประเทศสู่ Net-Zero ปี 2608

ถือเป็นอีกความคืบหน้าหนึ่งของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ.2608

ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

ทั้งนี้ โครงการการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage: CCS) ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็น 1 ใน 23 โครงการ ที่ล่าสุดได้มีการหารือร่วมกับทางฝ่ายนโยบายระหว่างประเทศด้านความเป็นกลางคาร์บอน (Deputy DirectorGeneral for International Policy on Carbon Neutrality) กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่นหรือ METI ถึงศักยภาพของโครงการพัฒนา CCS ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ

ภายใต้ความร่วมมือภายใต้การนำเสนอข้อมูลโครงการ (White Paper) ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยกระทรวงพลังงาน จะเสนอของบสนับสนุนการศึกษาอย่างเข้มข้นจาก METI ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมได้ข้อยุติภายใน 3 เดือนนี้

กฟผ.ดัน CCS เหมืองแม่เมาะ เก็บคาร์บอนในชั้นหิน

 

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ทางกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้เสนอขอความช่วยเหลือจาก METI ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อสนับสนุนงบในการศึกษาศักยภาพของชั้นหินในการกักเก็บคาร์บอนฯอย่างเข้มข้น

เบื้องต้นคาดว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เหมืองแม่เมาะในระดับลึก มีศักยภาพในการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาพของเหลวได้ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและจำเป็นต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมต่อไป หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยให้การพัฒนา CCS เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีโครงการวิจัยเรื่องศักยภาพของชั้นหินในเหมืองแม่เมาะสำหรับการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ของภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแอ่งเหมืองแม่เมาะ แม้เป็นการศึกษาเบื้องต้นจากหินโผล่ (Outcrop) แต่เป็นการศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการทดสอบจริงกับตัวอย่างหิน

สำหรับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ มีระยะความลึกของชั้นหินกว่า 1 กิโลเมตร เบื้องต้นพบว่ามีความพรุนเหมาะสมและมีหินปิดทับที่สมบูรณ์ ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาคุณสมบัติของชั้นหินปิดทับ (Cap Rock) และชั้นหินปิดทับ (Reservoir Rocks) เพื่อสรุปศักยภาพและความเหมาะสมต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การของบสนับสนุนช่วยเหลือโครงการดังกล่าวประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขึ้นอยู่กับทางญี่ปุ่นจะพิจารณาอย่างไร

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายงานว่า ในปี 2566 จะเร่งดำเนินงานและพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทย จะเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีประสิทธิภาพสูงในการจัดการ CO2 เพื่อเป็นไปตามนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนตํ่า การดำเนินงานด้าน CCUS ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีการดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ มีโครงการนำร่องที่สำคัญ อาทิ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มกักเก็บ CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026 โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มนํ้าเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ และโครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับกรมการพลังงานทหาร กฟผ. ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ