"เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน" พลิกโฉม อุตสาหกรรมพลังงานไทย-โลก

10 มิ.ย. 2565 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 22:10 น.

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ได้กลายมาเป็นคีย์เวิร์ดในแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมด้านพลังงาน

 

ในฐานะที่เทคโนโลยีดังกล่าวคือกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก และหากมีการใช้งานในวงกว้าง ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

คณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ต่างก็เห็นพ้องกันว่า CCS เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดคาร์บอน ตัวการสร้างภาวะเรือนกระจก และยังจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของสังคมโลกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่รุนแรงและเป็นภัยต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อีกด้วย กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่รุนแรงและเป็นภัยต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อีกด้วย

 

\"เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน\" พลิกโฉม อุตสาหกรรมพลังงานไทย-โลก

 

ประเทศไทยเอง รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปีพ.ศ. 2608

 

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ได้จัดการบรรยายออนไลน์ในหัวข้อ CCS - A crucial path for global decarbonization เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยนายโจชัว อู่ (Joshua Ngu) รองประธานฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัท วูดแมคคินซี (Wood Mackenzie) เปิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยย้ำว่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามเป้าหมายนั้น การนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) มาใช้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

 

โจชัว อู่

 

หลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งไทยเอง ได้เริ่มนำเทคโนโลยีที่ว่านี้มาใช้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศแล้ว โดยเชื่อว่าจะสามารถลดได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่นๆ นับเป็นแนวโน้มที่ดี แม้ว่าโครงการส่วนใหญ่เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังคงต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐอยู่อีกมาก

 

 “ความสำเร็จของ CCS จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสนับสนุนด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย ด้านปัจจัยส่งเสริมการลงทุน รวมถึงด้านการสื่อสารและการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมและให้ผลตามเป้าหมาย”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้าน CCS จากแมคคินซียังกล่าวด้วยว่า ความสนับสนุนดังกล่าวมานี้จำเป็นสำหรับสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนว่า หากทุ่มทุนลงไปแล้วกับเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน พวกเขาจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและคุ้มค่าการลงทุน ผู้เล่นสำคัญไม่ได้จำกัดอยู่ที่บริษัทในอุตสาหกรรมพลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนปริมาณมากในกระบวนการผลิต) เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมแขนงอื่น ๆ ซึ่งต่างมีต้นทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ว่านี้แตกต่างกันไป

 

ตัวอย่างในต่างประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย ที่มีความรุดหน้าเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (CCUS) มีหลายประเทศ แต่ที่อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิกและมีความก้าวหน้ามากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ขณะที่อินโดนีเซียก็เพิ่งมีการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ ออกมาเพื่อเอื้อต่อการพัฒนา

 

โจชัวกล่าวว่า ในประเทศที่มีความรุดหน้านั้นเห็นได้ว่านโยบายภาครัฐเข้ามามีบทบาททั้งแง่การส่งเสริมให้โครงการ (กักเก็บคาร์บอน) เกิดขึ้น และเอื้อหนุนให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหมายรวมถึงการมีมาตรการในเชิง "ให้รางวัล" แก่ผู้ลงทุน เช่น ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น

 

ในปี 2021 สหภาพยุโรป (อียู) นำระบบกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) มาใช้เพื่อสนับสนุน 4 โครงการด้าน CCUS ส่วนอังกฤษมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน CCS วงเงิน 1,000 ล้านปอนด์ และเนเธอร์แลนด์มีระบบให้เงินอุดหนุน (subsidy) เพื่อช่วยให้ต้นทุนโครงการไม่แพงจนเกินไป

 

ด้านออสเตรเลียนั้น ตั้งแต่ปี 2021 มีหลายโครงการที่จัดทำระบบกักเก็บคาร์บอน (CCS) และได้รับคาร์บอนเครดิตจากรัฐบาลเป็นการตอบแทนด้วย 

 

 การเริ่มต้นได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปที่มีความสำคัญคือ จะเร่งการพัฒนาให้รุดหน้าอย่างรวดเร็วและมั่นคงได้อย่างไร? ซึ่งในก้าวอันสำคัญนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ชัดเจน มีการสื่อสารต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งไปในทิศทางเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องวาง “กรอบกติกา” ที่ภาคธุรกิจจะสามารถดำเนินการได้อย่างเข้าใจและมั่นใจ ที่สำคัญคือ นโยบายของภาครัฐนั้นต้องนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่ยั่งยืนด้วย