SCG กางแผนธุรกิจ ตั้งเป้าลดคาร์บอน 20%

08 มิ.ย. 2565 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 03:28 น.
718

SCG เปิด 3 ธุรกิจหลัก ตั้งเป้าลดคาร์บอน 20% ในปี ค.ศ.2030 อัพเกรดผลิตภัณฑ์ใหม่ ดึงเทคโนโลยี SMX ลดการใช้พลาสติก หวังต่อยอดธุรกิจในอนาคต แนะภาครัฐจับมือเอกชนทำงานร่วมกัน ดันนโยบายต่อเนื่อง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” ช่วงการเสวนา The Challenging Path of Green Business ว่า SCG อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมี 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.เคมีคอล 2.ซีเมนต์วัสดุก่อสร้าง 3.แพ็คเก็จจิ้ง อย่างที่รู้กันว่าภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานและใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภค

 

 

“บางคนบอกว่าภายในปีค.ศ. 2025 ต้องมีการรีไซเคิลทั้งหมด การใช้พลังงานสะอาด เพราะฉะนั้นธุรกิจของ SCG ต้องยอมรับกว่าครึ่งหนึ่งเป็นธุรกิจที่ค้าขายร่วมกับต่างประเทศ ปัจจุบันเรามีการดำเนินการอยู่ในกลุ่มอาเซียนแทบทุกประเทศ และมีการดำเนินการบางส่วนอยู่กลุ่มประเทศแถบยุโรป ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราไม่เข้าไปอยู่ในกระบวนการที่ทำให้เป็นกรีนหรือเป็นเน็ตซีโร่ไม่ได้”

 

 

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า อีกด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสที่เราจะทำให้ธุรกิจอยู่ในระดับมาตรฐานของโลกในการลดคาร์บอน ถ้าทำได้ดีกว่าถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราเห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายคนให้เครดิตกับภาคส่วนที่มีความพยายามและสามารถทำให้ได้ตามเป้าหมาย ปัจจุบัน SCG มีการลงทุนในต่างประเทศแล้วส่วนหนึ่ง โดยจะเริ่มกำลังการผลิตได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีพ.ศ. 2565 ถึงแม้ว่าจะมีกรีนเฮ้าส์แก๊สที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องบริหารจัดการ แต่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

ในช่วง 8-9 ไตรมาสที่ผ่านมาพบว่าบริษัทสามารถลดการปล่อยคาร์บอนสู่เน็ตซีโร่ได้ดี แต่เชื่อว่าไตรมาสนี้จะสามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในแง่ของ SCG มองปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน กรีนเฮ้าส์แก๊ส คาร์บอน ถือเป็นปัญหาแค่บางส่วน แต่เรามองว่ายังมีปัญหาอีก 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลง 2.สังคม ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ที่อยู่ในระดับล่างในภาคสังคม รวมทั้งประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในแง่ของ SCG เวลาที่คิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรามีโจทย์ทั้ง 3 เรื่องในการกำหนดกลยุทธ์ที่เรียกว่า ESG 4 Plus ประกอบด้วย 1.Environmental 2.Social 3.Governance ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นเรื่องความเป็นธรรมและโปร่งใส รวมทั้งเน็ตซีโร่และลดการปล่อยแก๊สคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนทั้งกลุ่มจะต้องดำเนินการให้ได้ 20% ภายในปีค.ศ. 2030 และในปีค.ศ. 2050 ตั้งเป้าหมายสู่เน็ตซีโร่ ซึ่งยากกว่าภาพรวมทั้งประเทศ แต่ในภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นเรื่องง่ายกว่า เพราะธุรกิจเราไม่มีการใช้แก๊สมีเทน เราจะทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดนี้ได้ ส่วนกรีนโปรดักซ์หรือเซอร์วิสโซลูชั่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้บริการลูกค้า แทบจะไม่มีการใช้กรีนเฮ้าส์แก๊ส เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ฯลฯ แต่ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่ผู้บริโภคยังให้คุณค่าในเรื่องนี้ถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง

 

 

ขณะที่การพัฒนาสินค้า เช่น ธุรกิจสินค้าเคมีคอลส์ มีความจำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบรีไซเคิล รียูส รีดิวซ์ ซึ่งบริษัทได้มีการพัฒนาสินค้าเรียกว่าเทคโนโลยี SMX ลักษณะคล้ายตัวบูสเตอร์ที่ใช้ในการผลิต สามารถเป็นส่วนผสมในรูปแบบรีไซเคิลเพื่อดำเนินการผลิตได้ ทำให้เพิ่มปริมาณรีไซเคิลโปรดักซ์ แต่มีข้อเสียคือคุณสมบัติไม่ได้เทียบเท่ากับเวอร์จิ้นโปรดักซ์ แต่การใส่บูสเตอร์สามารถเพิ่มปริมาณของรีไซเคิลได้โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าเวอร์จิ้นโปรดักซ์ ซึ่งเป็นการใช้พลาสติกที่ลดลง ถือเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่มาในทิศทางนี้ เพราะค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าธุรกิจมีความก้าวหน้า สามารถดำเนินการได้ดี และสามารถหาโอกาสต่อยอดไปได้

SCG กางแผนธุรกิจ ตั้งเป้าลดคาร์บอน 20%

 

 “เห็นได้ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนถึงบทบาทในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทที่มากกว่าการทำธุรกิจ การทำค้าขาย คือการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งเป็นภาคบังคับที่เป็นงานส่วนหนึ่งของพวกเรา เพราะเราไม่สามารถอยู่ได้ หากสังคมไม่สามารถอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่ทุกคนกังวล”

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า ภาคโลจิสติกส์ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดกรีนเฮ้าส์แก๊สที่ใหญ่ที่สุด เพราะเกิดจากดีมานซ์ หากแยกประเภทภาคโลจิสติกส์ เช่น การส่งสิ่งของที่ใช้ภายในโรงงาน ฯลฯ เมื่อพูดถึง B2B เป็นโจทย์ที่สามารถทำได้ เพราะการส่งพัสดุ จะมีตารางเวลาที่แน่นอน ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้หมดแล้ว แต่ปัญหาการชาร์จไฟจะมีน้อยมาก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเดินทางในเส้นทางใดบ้าง หากจะมีการตั้งสถานีชาร์จไฟก็รู้ว่าควรตั้งไว้ที่บริเวณไหน เพราะฉะนั้นภาคโลจิสติกส์ B2B ถือว่ามีโอกาสอย่างมาก แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มต้นได้เมื่อไร ปัจจุบันรถอีวีสามารถบรรทุกสิ่งของได้ไม่มาก ถ้าทำถูกกฎหมายก็เชื่อว่าไม่มีปัญหา ส่วนการส่งสิ่งของ พบว่าในหลายประเทศมีการหารือระหว่างกัน โดยรัฐบาลอาจจะออกภาษีให้กับบริษัทที่มีกำไร ซึ่งจะได้รับการลดหย่อนภาษี

 

 

 

“สิ่งที่น่าคิดคือเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นต้องดำเนินการอีก 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ปัจจุบันมีการใช้แหล่งไฟฟ้าดังกล่าวกว่า 10% หากทำได้ 50% จะทำให้การใช้กระแสไฟฟ้าดีขึ้น กลายเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานสีเขียว และมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุน หากบ้านเราสามารถทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนได้ เราจะเป็นประเทศที่มีเสน่ห์มาก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเรื่องจีโอโพลิสติก ทำให้ทุกคนพยายามเข้าใกล้ตลาดมากขึ้น เพราะทุกคนต้องการกระจายแหล่งผลิตมากขึ้น 2.การบริหารดีมานซ์ เป็นเรื่องน่าคิดว่าสามารถปรับปรุงระบบรางเพื่อเพิ่มการขนส่งทางรถไฟได้มากขึ้น ซึ่งบ้านเราเป็นประเทศที่ยอมรับว่าระบบการขนส่งถือว่าเกือบดีที่สุดในอาเซียน ถ้ามีการพูดคุยในภาคเอกชนและภาครัฐจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจกรีนให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ทุกๆคนได้”

 

SCG กางแผนธุรกิจ ตั้งเป้าลดคาร์บอน 20%

 นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า การฝังกลบขยะต้องยกเลิกให้ได้ เพราะหลายประเทศมีการยกเลิกไปแล้ว ไม่ใช่การเผาขยะทุกอย่าง แต่ทำอย่างไรให้ของที่ไม่จำเป็นต้องเผามาทำเป็นแก๊ส การรีไซเคิล หรือรียูสได้ ทำให้เกิดพลังงานและมีมูลค่ามากขึ้นเพื่อลดปัญหาความเสื่อมโทรมและสภาพแวดล้อม หากดำเนินการได้จะทำให้เราก้าวไปอีกขึ้นหนึ่ง

 

 

“เรามองว่าบทบาทของภาครัฐต้องการให้เอกชนสนับสนุนในเรื่องนี้ไม่เวิร์ค แต่ควรให้ภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกัน เพราะหลายๆเรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะเทคโนโลยี เช่น ชนิดของแบตเตอรี่อีวี ฯลฯ และมีความจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่างอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุนหรืออุตสาหกรรมที่อยากให้ลด เพราะฉะนั้นเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายต้องมีความชัดเจน บทบาทของรัฐมีความต่างในวิกฤติอื่นๆที่เราเคยเจอ ซึ่งเป็นบทบาทที่ต้องเดินไปด้วยกันและบาลานซ์เรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้ดี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นภาคธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้”