การบินรักษ์โลก ICAO ตอกย้ำบทบาทนวัตกรรมการบินลดก๊าซโลกร้อน

05 ก.ย. 2566 | 16:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 16:52 น.

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศย้ำเจตนารมณ์ อุตสาหกรรมการบินต้องไม่เป็นตัวการสร้างโลกร้อน เผยเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Goal) ภายในปี 2050

 

นายหม่า ตาว ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป ที่สยามพารากอน วันนี้ (5 ก.ย.) ว่า อุตสาหกรรมการบินโลกนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะร่วม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็น ก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวการก่อภาวะโลกร้อนและสร้างปัญหาสภาพอากาศโลกแปรปรวน  โดยทาง ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศภาคีสมาชิกจำนวนกว่า 190 ประเทศ ในการออกกฎระเบียบและมาตรฐานข้อปฏิบัติด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปีค.ศ. 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลก

นายหม่า ตาว ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

“การทำงานร่วมกันคือหัวใจสำคัญ” ผู้อำนวยการ ICAO กล่าวพร้อมยกตัวอย่างแผนยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ICAO Global Coalition for Sustainable Aviation ซึ่งเป็นเวทีหารือของภาคีสมาชิก 190 กว่าประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนและพัฒนาความคิดใหม่ๆ และเร่งกระบวนการนำนวัตกรรมต่างๆมาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนในอุตสาหกรรมการบินไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคพื้นดินหรือบนอากาศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกัน

การบินรักษ์โลก ICAO ตอกย้ำบทบาทนวัตกรรมการบินลดก๊าซโลกร้อน

“ผมมองว่าในการจะมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เราต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคีสมาชิกซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าในระหว่างทางมีทั้งความท้าทายแต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน”

ผู้อำนวยการ ICAO ยังได้ยกตัวอย่างความริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า  ACT-SAF program ที่ ICAO ริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกในการพัฒนาและนำแหล่งพลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน โดยความสนับสนุนที่ว่านี้ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของภาคีสมาชิก เช่นช่วยทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การพัฒนานโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาในภาคปฏิบัติเพื่อให้สามารถหาแหล่งสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green funding) เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิกกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 130 ประเทศที่เข้าร่วม ACT-SAF program ของ ICAO มีโครงการพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่โดยบริษัทพลังงานชั้นแนวหน้าอย่าง "บางจาก" เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าโครงการได้ภายในสิ้นปี 2024 นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งและนี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งภายใต้โครงการความริเริ่มของ ICAO

ก่อนหน้านี้ ICAO ยังมีกลไกที่เรียกว่า LTAG สำหรับสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว