นางสาว ซารา เรโซอาลญิ อุปทูตรักษาการ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป ที่สยามพารากอน วันนี้ (5 ก.ย.) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับการดำเนินการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซโลกร้อน) และมาตรการอื่นๆ สู่ผลลัพธ์ที่เป็น “รูปธรรม” ซึ่งทั้งอียูและไทยเอง ต่างก็มีความมุ่งหมายร่วมกันนั่นคือ มุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยทางอียูนั้นตั้งเป้าไว้ที่ปี ค.ศ.2050
“รายงานล่าสุดของ UN Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ทำให้โลกต้องหันมาใส่ใจจริงจังกับปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับสภาพอากาศ เนื่องจากโลกของเรามีอุณหภูมิร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศเน้นย้ำว่าเรากำลังพูดถึงความพยายามในระดับ “โอกาสสุดท้าย” แล้ว เพื่อให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมาย เพราะหากสูงไปกว่านั้น สภาพอากาศของโลกจะพบกับความเสียหายชนิดที่เรียกคืนย้อนกลับไม่ได้” อุปทูตอียูเกริ่นย้อนถึงความเป็นมา ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นวาระสำคัญระดับโลก
“การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่าเป้า 1.5 องศาเซลเซียสของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นระดับโลกร้อน(ขึ้น)สูงสุดที่ยอมรับกันได้ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ นั่นหมายความว่าจะมีความเสียหายตามมาในระดับหายนะ ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น ความแห้งแล้ง ไฟป่า และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง”
ฤดูร้อนปีนี้ โลกได้ประสบแล้วกับความรุนแรงของสภาพอากาศในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) และ EU’s Copernicus Earth observation programme พบว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคือเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกทางอุตุนิยมวิทยาอย่างเป็นทางการ
อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยขณะนี้สูงขึ้นไม่ถึง 1 องศา หรืออยู่ในช่วงราวๆ 1 ใน 3 ขององศาเซลเซียส เป็นการสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสถิติก่อนหน้าที่บันทึกไว้ในปี 2019 ในปีนี้ยุโรปได้เกิดไฟป่าในประเทศกรีซและอิตาลีที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นสถิติใหม่ของภูมิภาคยุโรป คือมีพื้นที่ความเสียหายที่ถูกไฟเผาผลาญวอดเกือบๆ 200,000 เฮคตาร์ เป็นสถิติที่เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยในช่วงสองทศวรรษก่อนหน้า
ในเอเชียเองก็กำลังประสบภัยธรรมชาติและความแห้งแล้งที่ยาวนานกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคที่ลดลงและการผลิตกระแสไฟฟ้า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มด้อยโอกาส ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนยังส่งผลต่อประเทศไทย โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยแล้งที่มีต่อภาคการเกษตร รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
“วิกฤตสภาพอากาศในมิติที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ต้องการมาตรการรับมือที่แข็งขันที่มนุษย์เราจำเป็นต้องร่วมกันควบคุมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างก๊าซเรือนกระจกซึ่งนักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกมีความก้าวหน้าในเรื่องการรับมือกับภัยคุกคามสภาพอากาศจากการที่มีการทำข้อตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยพยายามให้เพิ่มขึ้นที่ระดับเพียง 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่นานาประเทศในโลกต้องทำให้คำมั่นสัญญากลายเป็นการลงมือทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม” อุปทูตอียูกล่าว
3 ข้อพันธกิจเตรียมนำเสนอใน COP28 ปลายปีนี้
ก้าวต่อไปที่สำคัญของความพยายามระดับโลกในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศคือ การประชุม COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.ถึง 12 ธ.ค. 2566 ซึ่ง อียูจะเดินหน้าสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับ “พันธกิจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก” (Global Energy Transition Pledge) ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวโยงกัน นั่นคือ
เป้าหมายของอียูและเส้นทางสู่ซีโร่คาร์บอน
อียูมีนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของข้อตกลงปารีส ที่มีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการก้าวสู่การเป็น ทวีปที่มีความเป็นกลางทางสภาพอากาศ (climate neutral continent) ภายในปี 2050
ทั้งนี้ สำหรับอียู การปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นั้นเป็นพันธกิจที่มีความผูกพันตามกฎหมาย เกิดจากกฎหมายสภาพอากาศยุโรป หรือ European Climate Law ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2021 ภายใต้กฎหมายดังกล่าว มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% (เมื่อเทียบกับปี 1990) ภายในปี 2030 และพร้อมๆกับกฎหมายดังกล่าว มีการนำเสนอแพ็คเกจที่ เรียกว่า Fit for 55 ที่มีความริเริ่มต่างๆมากมายที่จะชักจูงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เช่น การขยายขอบเขตให้ภาคธุรกิจใหม่ๆสามารถสมัครเข้าเทรดคาร์บอน ความริเริ่มที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และการนำเสนอระบบขนส่งมวลชนที่สร้างมลภาวะน้อยลงให้เร็วขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงขนส่งมวลชนไฟฟ้า และการพัฒนามาตรฐานใหม่สำหรับการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเล
นอกจากนี้ อียูยังชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซโลกร้อนในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต พลังงาน การขนส่ง หรือการเกษตร โยอียูมี European Green Deal ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นโร้ดแมปซึ่งประกอบด้วยแผนดำเนินการต่างๆ 50 มาตรการ ที่ไม่เพียงตั้งเป้าในด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่ภาคธุรกิจยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และมีประสิทธิภาพในการแข่งขันได้ด้วย
“นโยบาย European Green Deal ของเรามีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า จะมีโอกาสใหม่ๆสำหรับทุกๆคน เราสามารถช่วยประชากรกลุ่มเปราะบางด้วยการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึงแหล่งพลังงาน และขณะเดียวกันก็สร้างความแข็งแกร่งให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้” อุปทูตอียูอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ นโยบายของอียูจะสร้างกลยุทธ์การเติบโตใหม่ๆควบคู่กันไป มี แผนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (green transition) ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วยวิธีการเหล่านี้
อุปทูตอียูระบุว่านโยบาย EU Green Deal ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เกิดขึ้นบนความสำเร็จของ EU Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง และทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการลดปล่อยก๊าซโลกร้อนนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้กลไกที่คุ้มค้ากับการลงทุน
แต่หลังจากความสำเร็จของ ETS แล้ว อียูเดินหน้าต่อยอดกลไกนี้ให้เติบโตต่อไปด้วยการขยายขอบเขตครอบคลุมธุรกิจใหม่ อาทิ การขนส่งทางเรือ และด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุด ขณะเดียวกันอียูก็ได้นำมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM มาใช้ หรือที่เรียกว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าในประเทศที่สามที่ส่งออกมายังตลาดในอียู ด้วยการสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในอียูที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกอียูผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของอียูลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
ความร่วมมือกับไทยสู่ Net Zero
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ CBAM และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง CBAM ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ใหม่ของอียู เช่นเรียนรู้วิธีการคำนวณ และการแจ้งสำแดงรายละเอียด ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเป็นการเริ่มต้นช่วงแห่งการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงสิ้นปี 2568
“ในปัจจุบันถือว่า สินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ครอบคลุมโดยกฎเกณฑ์ CBAM อาทิ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นสินค้าที่ไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังอียูมากนัก ดังนั้น ผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการบังคับใช้ CBAM จึงถือว่าน้อยมาก” อุปทูตอียูกล่าว
อย่างไรก็ตาม อุปทูตอียูได้กล่าวเตือนถึงกฎเกณฑ์ใหม่ของอียูเกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่า (Deforestation Regulation) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย EU Green Deal ให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆที่วางจำหน่ายในตลาดอียู จะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมสภาพ
เกี่ยวกับประเด็นนี้ อียูกำลังร่วมงานใกล้ชิดหน่วยงานรัฐบาลของไทยเพื่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งออกไปยังอียูมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2565)
“เราต้องการให้กระแสการค้าระหว่างไทย-อียูเป็นไปด้วยดีไม่มีติดขัด ขณะเดียวกันก็สามารถอนุรักษ์ผืนป่าไปด้วย เพราะนี่จะเป็นอีกช่องทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง