แนวคิดการลดกินเนื้อสัตว์แล้วหันมาหาอาหารประเภท Plant based หรือ อาหารที่ทำจากพืช เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เพื่อลดผลกระทบจาก "วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ "โลกร้อน"ในอนาคต
มีความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ ต่อการลดการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวย เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยพวกเขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีเดียวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้คนในการลดผลกระทบที่มีต่อโลก หรือแม้แต่ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชื่อดัง ก็เคยเสนอแนวคิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการสัมภาษณ์กับ MIT's Technology Review
“ผมคิดว่าประเทศร่ำรวยทุกประเทศควรหันมาใช้เนื้อวัวสังเคราะห์ 100%” เกตส์กล่าว เมื่อถูกถามถึงวิธีลดการปล่อยก๊าซมีเทน เขายังบอกอีกว่า รสชาติไม่เหมือนเนื้อแต่เดี๋ยวก็ชิน
ขณะที่ อ็อกซ์แฟม เปิดเผยว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 50% ถึง 2 เท่า ดังนั้น แม้ประเทศที่ร่ำรวยจะเปลี่ยนมาใช้เนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องทดลองหรือเนื้อสัตว์สังเคราะห์ก็ตาม สิ่งนี้จะมีผลกระทบอย่างมาก
ด้าน รายงานการศึกษาของ IPCC ให้ข้อมูลว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษหน้า หากไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมีนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25-90 %ในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 2000 และหากการพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังดำเนินต่อไปหลังปี 2030 คาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 40-110 %
ในประเด็นลดกินเนื้อสัตว์มีความเคลื่อนไหวล่าสุดในต่างประเทศ มีนักวิชาการมากกว่า 650 ราย ทั้งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีชื่อเสียง ผู้ประกาศข่าวและผู้รณรงค์หาเสียง คริส แพ็คแฮม และแคโรไลน์ ลูคัส ส.ส.จากพรรคกรีน
ออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยในอังกฤษให้คำมั่นสัญญาที่จะให้บริการอาหารที่ทำจากพืช 100% เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
จดหมายเปิดผนึกซึ่งจัดโดย แคมเปญ Plant-Based Universities นำโดยนักศึกษา เพื่อให้มีการเปลี่ยนไปใช้อาหารปลอดเนื้อสัตว์ซึ่งมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร 101 แห่งได้ดำเนินการไปแล้ว
ในจดหมายที่ส่งถึงรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ผู้จัดการแผนกจัดเลี้ยง และประธานสหภาพนักศึกษาในสหราชอาณาจักร ระบุว่า “เราตระหนักดีถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ เช่นเดียวกับที่คุณก็ต้องตระหนักเช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ เรายังตระหนักด้วยว่าการเลี้ยงสัตว์และการประมงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้”
และนี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็น
ดร.เฮเลน เซอร์สกี้ นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และผู้จัดรายการโทรทัศน์ที่ลงนามในจดหมายกล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรมองว่าตัวเองเป็นจักรวาลเล็กๆ ของสังคม เเละกระตุ้นให้ผู้คนลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อทดสอบทางเลือกที่ดีกว่า และประเมินผลที่ตามมา
ทอม แบรดชอว์ รองประธานสหภาพเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องถูกต้องสำหรับมหาวิทยาลัยที่จะพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมในการท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร แต่ห้ามเนื้อวัวและเนื้อแกะทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงสถานที่และวิธีการผลิต เป็นแนวทางที่ง่ายเกินไป มหาวิทยาลัยควรพิจารณาการจัดหาแทน
ปี 2020 กลุ่มพันธมิตรที่ทรงพลังของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่ลดการบริโภคอาหารที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น เนื้อแดง
ผู้จัดเลี้ยงภาครัฐที่ให้บริการอาหารหลายพันล้านมื้อต่อปีในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานดูแลเด็ก ก็ให้คำมั่นในปี 2020 เช่นกันว่า จะลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่เสิร์ฟลง 20% ในปี 2021 ยุทธศาสตร์อาหารระดับชาติที่รัฐบาลมอบหมายแนะนำให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเกือบ 1 ใน 3
มูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลก
มูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.85 แสนล้านบาท และจะเติบโตเฉลี่ย 10.5% จนมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.57 แสนล้านบาท ในปี 2024 แต่มูลค่าตลาดของเนื้อสัตว์จากพืชยังคงคิดเป็นส่วนแบ่งเพียง 1% จากมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์ทั้งหมด
มูลค่าตลาด Plant-based Food ในปะรเทศไทย
ประเทศไทย ตลาด Plant-based Food ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท คาดเติบโตปีละ 10% และในปี 2567 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท
ข้อมูล
Hundreds of academics call for 100% plant-based meals at UK universities
World's richest 1% cause double CO2 emissions of poorest 50%, says Oxfam
Bill Gates insists we must move to ‘100% plant-based beef’ to tackle climate change
Bill Gates: Rich nations should shift entirely to synthetic beef
Avoiding meat and dairy is ‘single biggest way’ to reduce your impact on Earth
ข่าวที่เกี่ยวข้อง