energy
1.6 k

ส่องแนวทาง"ลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟ"หลัง"เศรษฐา"ลั่นทำทันทีหลังถกครม.

    ส่องแนวทาง"ลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟ"หลัง"เศรษฐา"ลั่นทำทันทีหลังถกครม. ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศนโยบายไว้เมื่อตอนหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง กระทรวงพลังงานเผยวิธีความเป็นเป้นไปได้

ลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟทันทีหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เป็นคำพูดของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยที่ลั่นวาจาเอาไว้ล่าสุด

ประเด็นสำคัญก็คือแนวทางที่จะดำเนินการจะต้องทำอย่างไร ถึงจะทำได้ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้

ต่อเรื่องดังกล่าว แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แนวทางการลดราคาน้ำมันดีเซลที่ดำเนินการได้ ประกอบด้วย
          

  • ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล โดยกรณีลดภาษีลงลิตรละ 5 บาท จะกระทบกับรายได้รัฐบาลเดือนละ 10,000 ล้านบาท
  • การลดจัดเก็บทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดย ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนน้ำมันดีเซลลิตรละ 6.43 บาท ในขณะที่น้ำมันดีเซลถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลิตรละ 0.81-2.80 บาท
  • ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่าง การจัดทำโครงสร้างใหม่

"ลดราคาดีเซล"ต้องลดภาษีสรรพสามิต สกนช.ชี้ตลาดโลกยังผันผวน

แนวทางลดค่าไฟฟ้า 

การลดค่าไฟฟ้าที่ดำเนินการได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย

  • รัฐบาลจัดงบประมาณเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยดำเนินการ โดยใช้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเฉพาะกลุ่มครัวเรือน ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และส่วนผู้ใช้ไฟที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ให้ปรับการช่วยเหลือเป็นแบบขั้นบันได เป็นต้น          

ส่องแนวทางลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟ

  • การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อ การผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน          
  • การยืดหนี้ค่าบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง กฟผ.รับภาระไปก่อนรวมวงเงิน 110,000 ล้านบาท โดยผู้ใช้ไฟมีกำหนดใช้หนี้คืน กฟผ.รวม 22 เดือน และถ้าจะลดค่าเอฟทีต้องขยายเวลาคืนหนี้ให้ กฟผ.ออกไป โดยรัฐบาลต้องมาแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ กฟผ. เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล
  • การเร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้ง ในอดีต ให้กลับมาเป็นโอกาสของประเทศที่จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการพึ่งพา LNG นำเข้า          
  • การปรับแก้ในเรื่องของค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) โดยการเจรจาการลด Margin การยืดเวลาของสัญญาเดิม และไม่เร่งการเพิ่มซัพพลายของการผลิตไฟฟ้า          

แนวทางการลดราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ประกอบด้วย 

  • เพิ่มเงินกู้เข้าเพื่อเพิ่ม สภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 
  • การใช้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ 
  • เงินบริจาคจากบริษัทพลังงานเพื่อสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 
  • ปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนหรือการจ่ายเงินชดเชย โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่กิโลกรัมละ 4.3973 บาท