zero-carbon
1.1 k

มหาสมุทรดูดซับความร้อน 90% สัญญาณอันตรายโลกรวน

    90% ของความร้อนจาก “โลกรวน” หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรได้ดูดซับเอาไว้ เเละทำไมจึงเป็นสัญญาณอันตรายเมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นทุกขณะ

"มหาสมุทร" ดูดซับความร้อนซึ่งส่วนใหญ่มาจาก “ภาวะโลกร้อน” ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ด้วย ซึ่งดูเหมือนว่ามหาสมุทรทำงานหลายอย่างในการลดระดับความร้อนเลยก็ว่าได้ นี่คือข้อมูลจาก “เบย์เลอร์ ฟอกซ์ เคมเปอร์" ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลก สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าวกับซีเอ็นบีซี

เขายังบอกอีกว่า กว่าร้อยละ 90 ของความร้อนบนโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบได้ในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น บางส่วนอยู่ในพื้นผิวมหาสมุทร และบางส่วนอยู่ที่ระดับความลึก คือสาเหตุที่อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงเป็นประวัติการณ์

มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกแตะระดับสูงสุดที่ 69.73 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 20.96 องศาเซลเซียส ในวันที่ 31 กรกฎาคม ตามชุดข้อมูลที่ดูแลโดย “โคเปอร์นิคัส” หน่วยงานสังเกตการณ์โลกในโครงการอวกาศของสหภาพยุโรป ซึ่งย้อนกลับไปใน ปี 1979 ชุดข้อมูลเฉพาะนี้วัดอุณหภูมิที่ประมาณ 33 ฟุตใต้พื้นผิวมหาสมุทร

ในมหาสมุทรนอกชายฝั่งฟลอริดา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 101 องศาฯ NASA กล่าวว่า เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่อบอุ่นที่สุดของการบันทึกย้อนหลังไปถึงปี 1880

"มหาสมุทรอุ่นขึ้นที่เห็นอยู่ในขณะนี้แสดงถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น" เบนจามิน เคิร์ทแมน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยไมอามี กล่าว และสิ่งนี้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่รุนแรงในระบบภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ คลื่นความร้อน ความร้อนในทะเลที่เพิ่มมากขึ้น ความแห้งแล้งในพื้นที่ที่แห้งแล้งอยู่แล้ว น้ำท่วมในพื้นที่ที่เปียกชื้นอยู่แล้ว ลมแรง และไฟ

อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งกำลังมีผลอยู่ในขณะนี้ เช่น เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก และรูปแบบที่คล้ายกันในมหาสมุทรแอตแลนติก

ปัจจุบัน ร้อยละ 44 ของมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า คลื่นความร้อนในทะเล ตามข้อมูลของ ซาราห์ แคพนิก หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)  นั่นคือ เปอร์เซ็นต์สูงสุดของมหาสมุทรทั่วโลกประสบกับคลื่นความร้อนในทะเลตั้งแต่ปี 1991

 

ยิ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไหร่ มหาสมุทรก็ยิ่งร้อนขึ้นเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกทำให้ระบบภูมิอากาศทั้งหมดอุ่นขึ้น รวมถึงมหาสมุทรด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ก๊าซเรือนกระจกทำหน้าที่ดักจับความร้อนมากขึ้น ซึ่งบางส่วนถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ดังนั้น เมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงคาดว่ามหาสมุทรจะดูดซับความร้อนมากขึ้นเช่นกัน

เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญเมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้น

มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น "เฮอริเคน" และ "ไซโคลนเขตร้อนและนอกเขตร้อน" ดึงพลังงานส่วนใหญ่มาจากอากาศอุ่นและชื้นใกล้พื้นผิวมหาสมุทร น้ำทะเลที่ร้อนขึ้น หมายถึงอากาศที่อุ่นขึ้นและชื้นขึ้น ซึ่งจากนั้นจะมีพลังงานมากขึ้นนำไปสู่พายุที่แรงขึ้น

แต่ผลกระทบของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นต่อพัฒนาการของพายุเฮอริเคนนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภูมิภาคของมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุด อุณหภูมิของมหามหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนลึกทางตอนใต้ของละติจูด 20 องศา วิกฤตเป็นพิเศษ และที่ใดก็ตามที่พายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้น มหาสมุทรที่ร้อนระอุจะเสริมความแข็งแกร่ง 

อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงเป็นประวัติการณ์ทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น ฆ่าสิ่งมีชีวิตอย่าง ปลา แนวปะการัง เร่งการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่เป็นอันตราย และในระยะยาวทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

The Coral Restoration Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐฟลอริดาได้นำปะการังออกจากมหาสมุทรและใส่ไว้ในถังกักเก็บบนบก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ทีมงานของ Coral Restoration Foundation ได้ไปเยี่ยมชม Sombrero Reef ซึ่งเป็นพื้นที่ฟื้นฟูที่ทำงานกันมานานกว่าทศวรรษ สิ่งที่พบนั้นคือ การตายของปะการัง 100 % ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูของมูลนิธิฟื้นฟูปะการัง กล่าวในแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อเดือนกรกฎาคม

ข้อมูลพบว่า แนวปะการังเติบโตได้ดีในอุณหภูมิมหาสมุทร ระหว่าง 73-84 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 22-28 องศาเซียลเซียส สามารถอยู่รอดได้ทั้งในอุณหภูมิที่สูงขึ้นและต่ำลงในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนจัดในฟลอริดาทำให้เกิด “การฟอกขาวของปะการังเป็นวงกว้าง” 

สาหร่ายอันตรายมากขึ้น

สิ่งมีชีวิตที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในอุณหภูมิมหาสมุทรที่ร้อนจัดและทำให้เกิดสาหร่ายที่เป็นอันตรายได้แก่ สาหร่ายสีแดง และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ทั้งคนและสัตว์สามารถป่วยได้จากการสัมผัสกับสาหร่ายเหล่านี้หรือรับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อน ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่ายและระยะเวลาที่ได้รับสาร อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สาหร่ายจะบานรุนแรงขึ้นเมื่อไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปุ๋ยไหลลงสู่มหาสมุทร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบเนื่องจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของทั้งพายุฝนและพายุฝนแล้ง

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่ง โดยทั่วไปแล้ว ประมาณ 2 ใน 3 ของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกเกิดจากน้ำแข็งละลายจากแอนตาร์กติกา กรีนแลนด์ และธารน้ำแข็งในทวีป และอีก 1 ใน 3 เกิดจากอุณหภูมิโดยรวมที่เพิ่มขึ้น 

ข้อมูล 

Oceans absorb 90% of the heat from climate change — here’s why record ocean temps are so harmful

South Florida ocean temperature tops 101 degrees Fahrenheit, potentially a record

The ongoing marine heat waves in U.S. waters, explained

Global sea surface temperature reaches a record high