ฝ่าโลกร้อน “เนื้อสัตว์ทางเลือก” กับ “ความกระหาย” ของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น

16 ส.ค. 2566 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 16:31 น.

ฝ่าวิกฤติโลกร้อน “เนื้อสัตว์ทางเลือก” กับ “ความกระหาย” ของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เป็น 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

การผลิตปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ปล่อยก๊าซคาร์บอนที่สำคัญ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องใช้พื้นที่มหาศาล การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มเนื้อที่ของฟาร์ม หรือการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูสัตว์อีกต่อหนึ่ง ทุกขั้นตอนของการผลิตเนื้อสัตว์ล้วนใช้ทรัพยากรและปล่อยของเสีย ไม่ว่าจะเป็น การใช้น้ำและพลังงานปริมาณมากในการเลี้ยงสัตว์ ทำความสะอาดโรงฆ่าสัตว์ การขนส่งอาหารและเนื้อสัตว์ รวมถึงการแปรรูปอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การลดบริโภคเนื้อสัตว์และนมอาจเป็นกุญแจสำคัญใน “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากภูมิภาคนี้ต้องการชัตดาวน์ “ภาวะโลกร้อน” จะต้องลดการผลิตโปรตีนจากสัตว์และเปลี่ยนไปใช้พืช การเพาะปลูก และแหล่งทางเลือกอื่นภายในปี 2030 ตามรายงานฉบับใหม่ของ Asia Research Engagement (ARE) ประเทศสิงคโปร์ องค์กรที่เน้นการลงทุนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แม้ว่านี่จะเป็นปัญหาระดับโลก แต่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศในเอเชีย เนื่องจากทวีปนี้ใช้โปรตีนจากสัตว์มากกว่าครึ่งโลก รวมถึงสัตว์บกและอาหารทะเล  ARE กล่าวในรายงาน ไม่เพียงเท่านั้นภูมิภาคนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรที่เติบโตเร็วที่สุด ซึ่งขับเคลื่อนการบริโภคเนื้อสัตว์

ปี 2020 มาเลเซียและเวียดนามบริโภคโปรตีนระหว่าง 8.9 - 12.3 กิโลกรัมต่อคน จากเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ซึ่งสูงกว่าระดับที่แนะนำคือ 5.1 กิโลกรัมที่แนะนำโดยคณะกรรมาธิการ EAT-Lancet ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก

ข้อมูลจาก ARE แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาทวีคูณ เพราะส่วนใหญ่ของถั่วเหลืองที่เลี้ยงในฟาร์มสัตว์ในเอเชียนำเข้ามาจากบราซิล อาร์เจนตินา และปารากวัย "เมียร์ที กอสเคอร์" (Mirte Gosker) กรรมการผู้จัดการของ Good Food Institute APAC สถาบันวิจัยโปรตีนทางเลือกชั้นนำของเอเชีย  กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ซึ่งเป็นการเพิ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของการผลิตปศุสัตว์

รายงานระบุว่า ภายในปี 2060 โปรตีนทางเลือกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกจะต้องมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตโปรตีน นั่นอาจหมายถึง การบรรลุเป้าหมายนี้จะนำมาซึ่งการระดมทุนโดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย นักลงทุน และธนาคาร กล่าวในรายงาน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากพืช การหมัก หรือในห้องปฏิบัติการ โปรตีนทางเลือกมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางสภาพอากาศพอๆ กับ “พลังงานหมุนเวียน” หรือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ขณะเดียวกัน เงินที่ลงทุนในการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมทดแทน ส่งผลให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าอาคารสีเขียว หรือ Green Building ซึ่งก็คือการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรอายุของอาคารถึง 7 เท่า และมากกว่ารถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ถึง 11 เท่า ตามรายงานของ Boston Consulting Group ในปี 2022

ตามรายงานของ The Good Food Institute เงินร่วมลงทุนในโปรตีนทางเลือกเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เพิ่มเป็น 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

บริษัทหมักอาหารที่เน้นโปรตีนทางเลือกมีเงินลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เทียบกับ 600 ล้านดอลลาร์จากปี 2020 ขณะที่บริษัทเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์และอาหารทะเลมีเงินลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับ 400 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ตามข้อมูลจาก The Good Food Institute

บริษัทอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ให้ความสนใจเช่นกัน โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ได้อ้างถึง  CP Foods ของไทยได้ขยายแบรนด์ Meat Zero ในสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อเพิ่มการบริโภคโปรตีนทางเลือกทั่วเอเชีย  ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น เต้าหู้ เทมเป้ และถั่วพัลส์ (Pulses) ซึ่งคือ ถั่วที่มีโปรตีนสูงและไขมันต่ำ เป็นส่วนหนึ่งของอาหารเอเชียแบบดั้งเดิมมาช้านาน แต่ในอดีตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ในวัฒนธรรมอาหารเอเชีย ARE ชี้ให้เห็น

“หากประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการผลิตและการพัฒนาโปรตีนทางเลือก ผลตอบแทนจากสภาพอากาศอาจมหาศาล” 

เเต่การผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อสภาพอากาศก็ต้องการพลังงานด้วยเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกต เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงต้องใช้ไฟฟ้าที่โรงงานผลิต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน

ข้อมูล 

Southeast Asia turns to alternative meats as fight against climate change ramps up