วารสาร Nature Sustainability นำเสนอผลการศึกษาโดยระบุว่า ผลกระทบจากปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นตามระดับอุณหภูมิโลก ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นในทะเล ฝนตกไม่ตรงตามฤดู สาหร่ายบูม รวมถึงมลพิษจากสารปรอท ยาฆ่าแมลง
และยาปฏิชีวนะ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ล้วนทำให้แหล่งอาหารที่สำคัญเริ่มลดลงแล้ว โดยผู้ผลิตชั้นนำอย่างจีน นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุด
สำหรับ Blue food หรือแหล่งอาหารของมนุษย์ที่จะได้รับผลกระทบนั้น หมายรวมถึงปลาทะเลกว่า 2,190 สายพันธุ์ สัตว์ชนิดมีเปลือกอย่างกุ้งและหอย พืชใต้น้ำและสาหร่ายทะเล
รวมถึงปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในฟาร์มกว่า 540 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญนี้คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนโลกกว่า 3.2 พันล้านคน โดยนอกจากปัญหาที่กล่าวมา การประมงที่มากเกินไปยังทำลายระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คุณภาพและปริมาณอาหารลดลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี Rebecca Short นักวิจัยได้แสดงความคิดเห็นว่า แม้ว่าประเทศทั่วโลกจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ในด้านการปกป้องแหล่งอาหารนั้น ยังด้อยพัฒนาและจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน
งานวิจัยยังเผยด้วยว่า ภาวะโลกรวนส่งผลให้อาหารทะเลกว่า 90% บนโลกกำลังจะหายไป เรื่องดังกล่าวนี้บรรดาประเทศที่จะได้รับผลกระทบก่อนใคร คือประเทศที่พึ่งพาอาหารทะเลเป็นหลัก อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม และประเทศเกาะเล็กๆ
โดยยังมีความหวังว่าการร่างสนธิสัญญาทะเลหลวงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะช่วยกระตุ้นให้แต่ละประเทศสมาชิกพูดคุยกันเรื่องนี้มากขึ้น
หลิง เฉา ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซียะเหมินของจีน ผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวว่า ความเปราะบางที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ชักนำ ทำให้การผลิตอาหารทะเลอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก
และจากความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุด อาทิ กรณีที่ประเทศนาอูรู พยายามจะทำเหมืองในมหาสมุทรเพื่อเก็บแร่เหล็ก หรือกรณีประเทศนอร์เวย์ ที่มีโครงการจะทำเหมืองใต้ทะเลเช่นกัน ทำให้นักสิ่งแวดล้อมได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งว่ามันจะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างมหาศาล โดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็พยายามเตือนรัฐบาลให้คิดดทบทวนก่อนจะทำเหมืองเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง