นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอาหาร ปี 2566 จะเติบโตที่ 0-2 เนื่องจากสถานการณ์การค้าในปัจจุบันมีความไม่แน่นอน และความท้าทายที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ หากรัฐและเอกชนมีความร่วมมือ คาดว่าการเติบโตของการส่งออกอาหารจะมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกอาหารในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.57 แสนล้านบาท
สำหรับสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าไก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาสีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก กำลังซื้อที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น
ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ประกอบการบางกลุ่มยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ รวมถึงปัญหาหนี้สินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีราคาวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าอาหารและที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะเอลนีโญที่ส่งผลต่อภัยแล้ง
ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ ความต้องการอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งประเทศไทยมีคุณภาพดีและราคาสินค้าสามารถแข่งขันได้ ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการสำรองอาหารของประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น การท่องเที่ยวในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว รวมถึงไทย ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น