zero-carbon
527

ส่องโอกาส "SME" รุกตลาด "คาร์บอนเครดิต" ต้องทำยังไง เช็คที่นี่

    ส่องโอกาส "SME" รุกตลาด "คาร์บอนเครดิต" ต้องทำยังไง เช็คที่นี่มีคำตอบ หลังนโยบายทั้งไทยและต่างประเทศมุ่งเป้าจัดการ Carbon Foot Print ขณะที่บริษัทใหญ่มีแนวโน้มไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทัน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน ) เปิดเผยในการสัมมนา "Carbon Credit and Carbon Foot Print :โอกาสหรืออุปสรรคของ SME" ว่า ในอนาคตจะมีการออกนโยบายต่างๆ มาบังคับให้บริษัทต้องจัดการกับก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยออกมาอย่างเข้มงวดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  

แม้ในปัจจุบันก็เห็นได้แล้วว่ามีมาตรการด้านนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ของบริษัทที่รวมการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้า Net Zero ในปี พ.ศ.2065 

ซึ่งคาดว่าจะขยายไปตามจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต  ธุรกิจบางประเภทเช่นธุรกิจการบินในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมันที่เป็น Sustainable Fuel ถ้าหากว่าทำไม่ได้ก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต มิฉะนั้นจะถูกห้ามบิน หรือในภาคธนาคารเองก็มีกระแสมาแล้วว่าต่อไปนี้การจะปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทใดๆ ในการดำเนินธุรกิจจะต้องมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงการก่อน และถ้าสูงเกินมาตรฐานจะมีการปรับเกิดขึ้น รวมไปถึงในงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ จะต้องมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน  
 

อย่างไรก็ดี จากเทรนด์ของโลกและธุรกิจที่เกิดขึ้น จะพบว่ามีบริษัทที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 1,680 องค์กรทั่วโลก และโดยทั่วไปหากเป็นบริษัทใหญ่จะเป็นผู้ปล่อยก๊าซมากกว่า และไม่สามารถชดเชยเครดิตได้เท่ากับการปล่อยอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสให้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ที่มีปริมาณมากกว่าสามารถเข้ามาในตลาดนี้ ซึ่งจะกลายเป็นตลาดที่เป็นที่ต้องการในอนาคตแน่นอน  

นายเกียรติชาย กล่าวอีกว่า หาก SME สามารถสร้าง Carbon Credit ได้ ก็จะขายต่อต่างประเทศได้ หรือขายให้แก่บริษัทใหญ่ ที่ไม่สามารถจัดการได้ ตลาดคาร์บอนเครดิตจึงประกอบด้วยผู้ปล่อยที่ต้องการลด Carbon Foot Print  

และผู้ที่สามารถทำคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาหักล้างกัน  โดยใช้กลไกนโยบายและกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในการสร้าง Carbon Credit มีต้นทุนในการจ่าย เมื่อทำได้สามารถเก็บเป็นเครดิตเหมือนหุ้นและสร้างผลกำไรได้

สำหรับทิศทางของประเทศไทยวันนี้ เมื่อมองจากสิ่งที่กำลังจะมาก็คือ จะมีการควบคุมการรายงาน Carbon Footprint มีการควบคุมให้สามารถเก็บอัตราการปล่อยเกินเหลือแลกกันได้  มีคาร์บอน TAX และปัจจุบันมีระบบ T-ver และ T-ver Premium เป็นระบบลงทะเบียน และจะมีตลาดการซื้อขายในอนาคตที่เรียกว่า FTIX 

รวมถึงการใช้เครดิตบางส่วนแบ่งปันกับต่างประเทศได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐ (ITMOs) เพราะฉะนั้นกลไกในประเทศจะต้องทำให้ความต้องการในประเทศต่อเรื่องคาร์บอนเครดิตน้อยกว่าต่างประเทศก่อน  หากทำได้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและดึงนักลงทุนลงมาลงทุน เจรจากับ FTA ก็รู้เรื่องมากขึ้น เพราะปฏิบัติตามกระแสดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีการประเมินว่าตลาดการซื้อขาย Carbon Credit จะสูงถึง 325,450 ล้านบาท  โดย SME ที่สนใจจะต้องมีการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะการจะทำคาร์บอนเครดิตได้นั้นมีรายละเอียดมากมาย เช่น หากต้องการจะลงทุนเรื่องการปลูกต้นไม้ ก็จะมีข้อจำกัดว่าต้องเป็นต้นไม้ที่ลงมือปลูกไม่ใช่ต้นไม้ที่ปลูกมานานแล้ว 

หรือกิจกรรมบางอย่างหากอยู่ในแผนของรัฐ เช่น โครงการ EV ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่และได้ผลมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจจะต้องมาตีความอีกทีว่าเป็นโครงการที่ได้เครดิตหรือไม่ เพราะคาร์บอนเครดิตจะต้องเป็นเรื่องที่ทำเพิ่มเติมเป็นพิเศษให้กับประเทศเท่านั้น ไม่ใช่โครงการที่อยู่ในแผนของรัฐ

สำหรับ SME ที่เล็งเห็นถึงโอกาสก็สามารถยื่นเรื่องขอรับรองคาร์บอนเครดิต กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน ) ซึ่งมีระบบรองรับที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า T-ver และ T-ver Premium โดยจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

  • การพิจารณาขอบเขตที่ดิน
  • การจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ
  • ตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ
  • ขึ้นทะเบียนโครงการ เพื่อออกเป็นใบทะเบียนโครงการ (ไม่ใช่ใบรับรองคาร์บอนเครดิต)
  • ติดตามผลและจัดทำรายงาน
  • ทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจก
  • รับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งเมื่อได้ใบรับรองแล้ว  Carbon Credit ที่สร้างของโครงการจะเข้าไปอยู่ในระบบ