"ฝีดาษวานร" ป้องกันได้ยังไง อาการแบบไหน เช็คเลยที่นี่

02 ก.ค. 2566 | 09:17 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2566 | 09:18 น.

"ฝีดาษวานร" ป้องกันได้ยังไง อาการแบบไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลจากกรมควบคุมโรคไว้ให้แล้ว ล่าสุดพบผู้ป่วยเดือนเดียวพุ่งกว่า 2 เท่า ส่วนใหญ่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคฝีดาษวานรมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยวิธีป้องกันประกอบด้วย

  • ล้างมือบ่อยๆ
  • เว้นระยะห่าง
  • เลี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • เลี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง
  • กินอาหารปรุงสุก
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด

ทั้งนี้ ล่าสุดข้อมูลเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว มีรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 48 ราย ซึ่งมากกว่า 2.3 เท่า ของผู้ป่วยในเดือนพฤษภาคมที่มีจำนวน 21 ราย เป็นคนไทย 41 ราย ชาวต่างชาติ 7 ราย 

ส่วนใหญ่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (38 ราย) และในจังหวัดสมุทรปราการ 3 ราย ชลบุรี นนทบุรี จังหวัดละ 2 ราย สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย ผู้ป่วย 48 ราย เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 

และมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย 22 ราย คิดเป็น 45.8% ของผู้ป่วยในเดือนมิถุนายน 2566 ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักก่อนป่วย

ฝีดาษวานรป้องกันได้อย่างไร อาการเป็นแบบไหน

"โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรวม 91 รายในไทย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง" 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่ออีกว่า ยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต สังเกตว่าเดือนที่ผ่านมาผู้ป่วยฝีดาษวานรรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากเกือบครึ่งหนึ่ง โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงไม่สัมผัสแนบชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร 

รวมทั้งงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก และสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร รวมทั้งกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือเป็นฝีดาษวานรในขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน

หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที