zero-carbon

เปิดแผนพลังงานชาติ 2023 รุกลงทุนธุรกิจใหม่ 5 ปี กว่า 5.4 หมื่นล้าน

    เปิดแผนพลังงานชาติ 2023 รุกลงทุนธุรกิจใหม่ 5 ปี กว่า 5.4 หมื่นล้าน ดันเม็ดเงินสะพัดปีละกว่า 1 แสนล้าน เผยล่าสุดเปิดประชาพิจารณ์กลุ่มย่อยเรียบร้อย รอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. ชุดใหม่

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงความคืนหน้าแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งรวมอยู่ใน 5 แผนพลังงานที่รวมไว้ด้วยกันในแผนพลังงานชาติ 2023 (National Energy Plan 2023) ได้เปิดประชาพิจารณ์กลุ่มย่อยเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องรอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เห็นชอบแผนจากการเปิดประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติ

สำหรับกรอบแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย 

  • บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและสำรองให้เพียงพอในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกำหนดการสำรองใหม่ภัยใต้ Energy transformation ที่มีผลกระทบจากนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) 
  • บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง แบ่งเป็น น้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่ปี 2567 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วฐานของประเทศ ให้มีสัดส่วน B100 ที่ 5-9.9% ส่วนน้ำมันเบนซิน E20 เป็นเบนซินฐานของประเทศภายในปี 2570 เช่นกัน ด้าน LPG และ NGV นั้น ภาคขนส่งให้เป็นไปตามกลไกตลาด
  • ส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็น Backbone ของประเทศ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถามีบริการน้ำมัน 
  • ส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เช่น ปิโตรเคมี/ปิโตรเคมีขั้นสูง รวมถึงโรงกลั่นชีวภาพ (Bio-Refinery) และ พลังงานหมุนเวียน

นางสาวนันธิกา กล่าวอีกว่า แนวทางการส่งเสริมธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างผลตอบแทนที่คุณค่าต่อผู้ลงทุนและต่อประเทศ ช่วง 5 ปี (พ.ศ 2565-2569) จำนวน 8 โครงการ งบประมาณการลงทุน 34,900 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น

เปิดแผนพลังงานชาติ 2023 รุกลงทุนธุรกิจใหม่ 5 ปี กว่า 5.4 หมื่นล้าน

  • ปิโตรเคมี/ปิโตรเคมีขั้นสูง (โรงกันน้ำมัน) จำนวน 1 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 7,500 ล้านบาท โดยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการลงทุนของโรงกลั่นน้ำมัน สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 และในพื้นที่ลงทุนนอกเหนือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยประสานความร่วมมือกระทรวงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI),การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ,สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ร่วมสนับสนุน 
  • โรงกลั่นชีวภาพจำนวน 7 โครงการ มูลค่า 27,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนผู้ผลิตไบโอดีเซลและผู้ผลิตเอทานอล ซึ่งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในการแปรรูป ลดปัญหาภาวะล้นตลาด ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอเจต (SAF)/BHD สนับสนุนแผน AEDP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีและเป้าหมายสัดส่วนการผสม SAF
     

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น พลังงานหมุนเวียน ,การดักจับคาร์บอนและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS&CCUS) มีการลงทุนในอนาคตโดยภาพรวม 3 โครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท 

โดยการสนับสนุนพลังงานทางเลือกที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านทรัพยากร (แสงอาทิตย์ น้ำ ลม) สะท้อนนโยบายเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำพร้อมรับการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน รวมเป็น 54,900 ล้านบาท และยังมีโครงการที่ลงทุนไปแล้วอีก 6 โครงการ มูลค่ากว่า 54,200 ล้านบาท