เมื่อค่าไฟแพงเป็นเหตุ...ติดแผงโซลาร์ดีไหม

04 มิ.ย. 2566 | 07:52 น.

SCB EIC ประเมินราคาแผงโซลาร์ 3 ปีจากนี้จะยังคงลงต่อเนื่อง 20% ท่ามกลางค่าไฟที่แพงขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสครัวเรือนในการติดตั้ง Solar rooftop โดยคาดจะมีกลุ่มเป้าหมาย 1.7 แสนครัวเรือน มูลค่าตลาดราว 3 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ล่าสุด "เมื่อค่าไฟแพงเป็นเหตุ...ติดแผงโซลาร์ดีไหม " ระบุว่า ค่าไฟที่แพงขึ้น สวนทางต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop ที่ลดลง ช่วยเพิ่มโอกาสการติดตั้ง Solar rooftop โดยคาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายราว 1.7 แสนครัวเรือน ดังนี้


ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากสาเหตุอะไร 

ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เร่งตัวสูงขึ้น ผนวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าไฟฟ้าของครัวเรือนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 และเร่งตัวขึ้นมากในช่วงท้ายปีต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากทั้ง

  • 1. ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่เร่งตัว โดยค่า Ft เร่งตัวตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติของโลกเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นพลังงานหลักของการผลิตไฟฟ้าในไทย และไทยมีแนวโน้มพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในตลาด Spot มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงกว่า 2-3 เท่าของราคาก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา
  •  2. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสภาวะที่อากาศร้อนมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า (ยิ่งใช้ไฟมาก ก็ยิ่งจ่ายแพง) โดยถ้าใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟหน่วยถัดไปเพิ่มราว 20-30%

ราคาแผงโซลาร์ที่ถูกลง เพิ่มโอกาสการติดตั้ง Solar rooftop 

ท่ามกลางค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นของครัวเรือน ขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop มีแนวโน้มลดลงตามราคาแผงโซลาร์ (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของ Solar rooftop) ที่ลดลงต่อเนื่อง จึงช่วยเพิ่มโอกาสที่ครัวเรือนจะติดตั้ง Solar rooftop มีมากขึ้น โดย SCB EIC คาดว่าราคาแผงโซลาร์จะยังคงลงต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าเกือบ 20% (เฉลี่ยปีละ 7%) จากที่ลดลงไปแล้วเกือบ 60% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา [1] ทั้งนี้รูปแบบการติดตั้ง Solar rooftop ในที่อยู่อาศัยยังคงกระจุกตัวอยู่ในรูปแบบ On Grid System [2] เนื่องด้วยต้นทุนแบตเตอรี่ที่ยังสูง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญใน Off grid system และ Hybrid system 

3 เงื่อนไขสำหรับการติดตั้ง Solar rooftop 

แม้โอกาสการติดตั้ง Solar rooftop จะมากขึ้นจากราคาที่ถูกลง แต่ก็ใช่ว่าครัวเรือนทุกหลังจากเหมาะสมที่จะติดตั้ง หากพิจารณาจากต้นทุน การประหยัดค่าไฟฟ้า พร้อมกับจุดคุ้มทุน ครัวเรือนที่เหมาะสมจะติดตั้ง Solar rooftop

  • 1) ควรมีค่าไฟฟ้า 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากหากค่าไฟฟ้าต่ำกว่านั้น จุดคุ้มทุนมีโอกาสเกือบเท่ากับอายุของแผงโซลาร์ที่ 25 ปี ทำให้ครัวเรือนไม่สามารถได้กำไรจากการติดตั้ง หรืออาจขาดทุน หากมีค่าใช้จ่าย Inverter เครื่องใหม่เกิดขึ้น
  • 2) ควรใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันตั้งแต่ 50% ของการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ไม่ได้ทำงาน และ Home office เป็นต้น และ
  • 3) เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีพื้นที่ติดตั้งอย่างน้อย 14 ตร.ม. ใช้วัสดุที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ และลาดเอียงทางทิศใต้/ตะวันตก/ตะวันตกเฉียงใต้
     

กลุ่มเป้าหมายในการติดตั้ง Solar rooftop

SCB EIC คาดกลุ่มเป้าหมายในการติดตั้ง Solar rooftop สำหรับภาคครัวเรือนอาจมีอยู่ราว 1.7 แสนครัวเรือน ( 0.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดที่ 23 ล้านครัวเรือน) คิดเป็นมูลค่าตลาดการติดตั้งรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง ( มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน)  

แม้กลุ่มเป้าหมายจะมีสัดส่วนน้อย แต่หากเกิดปัจจัยเร่งอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็อาจช่วยหนุนให้ Solar rooftop ในครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสติดตั้ง Solar rooftop จะมีเพียง 0.8% ท่ามกลางเงื่อนไขราคาติดตั้งและต้นทุนค่าไฟฟ้าแบบปัจจุบัน ขณะที่ครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar rooftop ไปแล้วยังมีไม่ถึง 0.1% ซึ่งถือว่าเป็น Adoption rate ที่ต่ำมาก

ทั้งนี้ Adoption rate อาจเร่งตัวขึ้นได้อีก หากมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ

  • 1) การแข่งขันของผู้ติดตั้งที่มีสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนติดตั้งถูกลง
  • 2) ราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น
  • 3) ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ถูกลง ซึ่งจะสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งกว้างมากขึ้น
  • 4) การอุดหนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนต้นทุนการติดตั้งของครัวเรือน ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เกิด Adoption rate ที่สูงในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งมี Adoption rate สูงถึงกว่า 30% นอกจากนี้ หากภาครัฐปรับราคารับซื้อไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าในทุกประเภทพลังงานเฉลี่ยที่ 3.77 บาทต่อหน่วย และต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เฉลี่ยที่ 7.73 บาทต่อหน่วย
  • 5) Platform ในการช่วยตัดสินใจในการติดตั้ง Solar rooftop เพื่อให้ภาคครัวเรือนมีเครื่องมือในการช่วยประเมินความเหมาะสมและความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการติดตั้ง Solar Rooftop แบบเฉพาะเจาะจงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและรูปแบบหลังคาที่เหมาะสมกับครัวเรือนแต่ละราย


บทวิเคราะห์โดย  :  https://www.scbeic.com/th/detail/product/solar-rooftop-300523

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :  นพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส ([email protected]