"กฟผ."ปักหมุดมุ่งปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050

07 มิ.ย. 2566 | 20:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 20:13 น.

"กฟผ."ปักหมุดมุ่งปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 เดินหน้าผลักดันประเทศสู่ยุคพลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานสัมมนา Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน? โดยสปริงนิวส์ ร่วมกับฐานเศรษฐกิจและเนชั่นทีวี 22  ว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ขณะที่ประเทศไทยได้มีการเร่งตัวเองในการบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์จากเดิมในปี ค.ศ. 2065 ขยับขึ้นมาเป็น 2050 

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการผลักดันประเทศสู่ยุคพลังงานสะอาด ยกตัวอย่างเช่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่กฟผ.เร่งเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน รองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ พร้อมศึกษาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กฟผ.จึงเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานน้ำ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ 

โดยกฟผ. มีศักยภาพดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเตรียมเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการเดินหน้าส่งเสริมใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล โดยกฟผ. ได้รับสิทธิ์จาก I-REC ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง (Local Issuer) รายเดียวของประเทศไทย

กฟผ.ปักหมุดมุ่งปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ปี 2050

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่ไม่ปล่อยคาร์บอนระหว่างการเผาไหม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โดยศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

อย่างไรก็ดี ยังนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ให้ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน
 

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฟผ.ยังเตรียมยกระดับการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่แสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้รวมถึงเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน และป่าชายเลน โดยในปี 2565 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ารวมกว่า 1.03 แสนไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าในปี 2566 จำนวน 1 แสนไร่ ซึ่งมีเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ในปี 2574