ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคเนื้อวัวเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกัน โดยความต้องการของตลาดในการบริโภคเนื้อวัว แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มตลาดบน กลุ่มตลาดกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก และกลุ่มตลาดล่าง โดยกลุ่มตลาดบน มีความต้องการบริโภคเนื้อโคขุนในระดับคุณภาพเกรด 3.5 – 4.5 ประมาณการราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000 - 20,000 บาท
โดยหนึ่งในโคเนื้อคุณภาพดี นั่นคือ สายพันธุ์โคทาจิมะ หรือ โคเนื้อทาจิมะ เรียกอีกชื่อว่า Japanese Black หรือ wagyu เป็นโคเนื้อสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่มีความเป็นเลิศสายพันธุ์หนึ่ง ที่รู้จักกันดีทั่วโลกในชื่อ เนื้อโกเบ (Kobe Meat) หรือ เนื้อมัตสึซากะ (Matsusaka Meat)
ทำให้คนในวงการผู้บริโภคเนื้อต่างพูดถึงและให้คำนิยามว่า เป็นเนื้อพิเศษที่มีความนุ่มละมุนลิ้นชนิดละลายในปาก และต้องสรรหามาลิ้มลองรสชาติให้ได้สักครั้งในชีวิต ส่งผลให้เนื้อชนิดนี้มีราคาแพงมาก หรือเรียกได้ว่ามีราคาแพงสุดในโลกเลยทีเดียว
โคเนื้อทาจิมะ ในประเทศไทย
สำหรับ โคเนื้อทาจิมะ ในประเทศไทยสามารถเลี้ยงได้แล้ว เมื่อปี 2531 โดย Mr. Nishida ผู้แทนสมาคม น้อมเกล้าถวายฯ โควากิว สายพันธุ์ทาจิมะ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สยามบรมราชกุมารี 1 คู่ (ผู้ 1 ตัว เมีย 1 ตัว)
ก่อนพระราชทานต่อให้กรมปศุสัตว์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยง การจัดการของเกษตรกรในประเทศไทย
รวมถึงได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อใหม่ ให้เป็น “โคเนื้อภูพาน” เป็นโคเนื้อคุณภาพดี มีราคา เลี้ยงได้ทั่วไทย นับเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์โคทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ต้องการสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี
ลักษณะเด่นของโคเนื้อภูพาน
ลักษณะเด่นของโคเนื้อภูพานนั้น พบว่า มีจุดเด่นคือ มีขนปกคลุมร่างกายสีดำ มีหลังตรง คอสั้น หูเล็ก เหนียงคอหย่อนยานเล็กน้อย โดยเพศผู้น้ำหนักโตเต็มที่ 700 กิโลกรัม เพศเมียน้ำหนักเต็มที่ 550-600 กิโลกรัม มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อสูง เป็นสัดครั้งแรกที่อายุประมาณ 14 เดือน และยังทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ลักษณะเนื้อของโคเนื้อภูพาน มีความนุ่มไขมันแทรกเกรดสูง จุดเด่นที่สำคัญของโคเนื้อภูพานคือมีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไปคือเท่ากับ 2.0 : 2.2 ขณะที่โคทั่วไปมีสัดส่วนเท่ากับ 1.8 : 2.2 ซึ่งกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวมีผลทำให้เนื้อโคเนื้อภูพานปลอดภัยต่อการบริโภค
ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน
ต้นทุนการผลิตโคเนื้อจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1.ราคาอาหารข้นที่เลี้ยงโค ถ้าเกษตรกรสามารถหาซื้ออาหารข้น หรือวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารข้นเลี้ยงโคได้ในราคาถูกต้นทุนการผลิตโคเนื้อจะต่ำ
2.ช่วงระยะห่างของการให้ลูก (calf interval) การเลี้ยงโคที่มีระยะการให้ลูกห่างจะทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการเลี้ยงโคที่มีระยะการให้ลูกไม่ห่าง โดยปกติโคจะกลับมาเป็นสัด (heat) และสามารถผสมติดได้ภายในระยะเวลา 60-90 วันหลังจากการคลอด สาเหตุที่ทำให้แม่โคมีระยะเวลาการให้ลูกห่างอาจเกิดมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น แม่โคมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วย ขาดอาหาร หรือถึง ระยะเวลาเป็นสัดแล้วไม่ได้รับการผสมพันธุ์
3.พันธุกรรมของโค การเลี้ยงโคที่มีพันธุกรรมไม่ดี เช่น มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อต่ำ ผสมติดยาก จะทำให้การเลี้ยงโคมีต้นทุนการผลิตสูง
4.ราคาต้นทุนโคที่ซื้อมาเลี้ยง ถ้าสามารถจัดหาซื้อโคที่มีคุณภาพดี ราคาถูก จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ
ต้นทุนในการผลิตลูกโคเนื้อภูพาน
สำหรับต้นทุนในการผลิตลูกโคเนื้อภูพานเพื่อจำหน่าย แบ่งประเภทของการเลี้ยงได้ ดังนี้
1.การเลี้ยงแบบประณีตมีการปลูกหญ้าสดไว้ให้โคกิน เสริมด้วยอาหารข้น จะมีต้นทุนการผลิตลูกโคประมาณ 9,000 บาทต่อตัว
2.การเลี้ยงแบบกึ่งประณีต มีการปลูกหญ้าสดไว้ให้โคกินอย่างเดียวจะมีต้นทุนการผลิตลูกโคประมาณ 7,000 บาทต่อตัว
3.การเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง ต้อนกินหญ้าธรรมชาติ จะมีต้นทุนการผลิตลูกโค ประมาณ 5,000 บาทต่อตัว
ส่วนการคำนวณต้นทุนแม่พันธุ์โคตัวละ 20,000 บาท โดยแม่โคให้ลูกปีละ 1 ตัว เกษตรกรสามารถจำหน่ายลูกโค ได้ในราคาตัวละประมาณ 15,000 บาท และจะมีรายได้เพิ่มเติมจากการจำหน่ายมูลโคแห้งประมาณ 4,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตามต้นทุนและผลตอบแทน ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งที่เลี้ยงและสภาวะการตลาดรวมทั้งขนาดการผลิต
ชมพื้นที่เลี้ยงโคต้นน้ำ ทองแสนขันวากิว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ ชนะฟาร์ม กองทุนหมู่บ้านถ้ำดิน หมู่ 11 ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์
ทั้งนี้เพื่อเยี่ยมชมการเพาะพันธุ์โคของวิสาหกิจชุมชนทาจิมะถ้ำดิน หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ ทองแสนขันวากิว ที่มีการเลี้ยงโคต้นน้ำ หรือ โคเนื้อพันธุ์วากิวลูกผสม (ทาจิมะภูพาน) จํานวน 110 ตัว ในพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี
สำหรับการเพาะพันธุ์โคของวิสาหกิจชุมชนทาจิมะถ้ำดินนั้น เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ “โคล้านครอบครัว” สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ โดยมุ่งให้ความรู้ประชาชนด้านการทำปศุสัตว์ เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่ความร่ำรวย อันจะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ในอนาคต ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง