"มันฝรั่ง" พืชเศรษฐกิจสำคัญเมืองเหนือ ต่อยอดความมั่นคงทางอาหาร

28 พ.ค. 2566 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2566 | 15:32 น.
569

ทำความรู้จัก “มันฝรั่ง” พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ พร้อมพัฒนากระบวนการผลิต และการปลูก ด้วยเทคโนโลยีระบบน้ำหยด ต้นแบบที่จังหวัดเชียงราย ต่อยอดเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของไทย

มันฝรั่ง” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดทั้งหัวมันฝรั่งสด และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปัจจุบันแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่งรุ่นฤดูแล้ง และเก็บเกี่ยวมากในเดือนมีนาคม - เมษายน ประมาณ 80% 

ขณะที่การจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาในด้านคุณภาพ ราคาประกัน ฤดูฝน 14.00 บาท/กก. และฤดูแล้ง 11.80 บาท/กก. ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 - 14 บาท/กก.  โดยราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

“มันฝรั่ง” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ

 

คาดทั้งปีผลผลิตมันฝรั่ง 1.2 แสนตัน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์การผลิต มันฝรั่ง ปี 2566 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 40,732 ไร่ แยกเป็น มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน  39,291 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 40,365 ไร่ เพิ่มขึ้น 367 ไร่ หรือ 0.91%  

โดยปริมาณผลผลิตทั้งปี 120,263 ตัน แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 115,567 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่ โดยผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่จำนวน 110,860 ตัน เพิ่มขึ้น 9,403 ตัน หรือ 8.48%

ด้านการตลาด ภาคเอกชน ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง ในปีที่ผ่านมา มีความต้องการใช้ 185,00 ตัน ซึ่งผลิตได้ในประเทศ 111,000 ตัน และนำเข้า 75,000 ตัน โดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะขยายทุกปี ๆ ละอย่างน้อย 10% 

ส่วนในปี 2570 คาดว่าจะมีความต้องการมันฝรั่งเพื่อแปรรูป เพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออกถึงประมาณ 280,000 ตัน 

เชียงรายผลิตมันฝรั่งแบบระบบน้ำหยด 

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรจังหวัดเชียงรายได้เริ่มนำ “ระบบน้ำหยด” มาใช้ในกระบวนการผลิตมันฝรั่ง จำนวน 1,828 ไร่ ซึ่งการปลูกแบบระบบน้ำหยด (drip irrigation) คือ ระบบให้น้ำทางผิวดิน (surface system) ที่ใช้แรงดัน 5 -15 เมตร และอัตราการไหลของหัวจ่ายน้ำ 1 – 8 ลิตร/ชั่วโมง 

โดยปล่อยน้ำจากหัวจ่ายน้ำสู่ดินโดยตรง แล้วซึมผ่านดินไปในบริเวณเขตรากพืช สามารถให้น้ำและสารอาหารพืช ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมทั้งปริมาณน้ำและสารอาหารที่พืชต้องการได้ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์

การให้น้ำผ่านระบบน้ำหยดช่วยให้น้ำไม่ท่วมขังในแปลง รากและหัวมันฝรั่งในดินไม่เน่า ส่งผลให้อัตราการงอกของต้นมันฝรั่งเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงได้รับปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

 

“มันฝรั่ง” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ

เปรียบเทียบต้นทุนการผลิตเกษตรกร

ทั้งนี้ยังได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตจากการใช้ระบบน้ำหยดในการปลูกมันฝรั่งของจังหวัดเชียงราย เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรที่ใช้ระบบน้ำหยดในการเพาะปลูกมันฝรั่ง เปรียบเทียบกับเกษตรกรที่ไม่ใช้ระบบน้ำหยด 

โดยได้รวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 รายแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรที่ใช้ระบบน้ำหยด จำนวน 20 ราย และกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช้ระบบน้ำหยด 20 ราย 

ทั้งนี้ เกษตรกร นิยมปลูกพันธุ์โรงงาน เนื่องจากได้มีการประกันราคารับซื้อกับบริษัทเอกชน ทำให้ทราบราคาขายล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมันฝรั่งปีละ 1 ครั้ง โดยเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของปีถัดไป

จากผลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนปี 2565 พบว่า เกษตรที่ใช้ระบบน้ำหยด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 32,560.28 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,809.14 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 42,405.01 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไรสุทธิ) 9,844.73 บาท/ไร่/ปี 

ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ระบบน้ำหยด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 30,865.62 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,937.68 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 32,755.13 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไรสุทธิ) 1,889.51 บาท/ไร่/ปี 

ขณะที่ราคามันฝรั่งที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ปี2565 ที่ 11.15 บาท/กิโลกรัม (ราคาประกัน) ซึ่งเกษตรกรจะขายผลผลิตทั้งหมดให้กับตัวแทนรับซื้อผลผลิตของบริษัทเอกชนที่เกษตรกรได้มีการทำสัญญาประกันราคารับซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว 

ดังนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ระบบน้ำหยด แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าเฉลี่ย 5.20% แต่เมื่อดูความคุ้มค่าของผลตอบแทนที่ได้รับแล้ว เกษตรกรจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 22.75% และมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไรสุทธิ) กว่าเกษตรกรทั่วไป ถึง 80.81% 

 

“มันฝรั่ง” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ

 

ระบบน้ำหยด ช่วยประหยัดแรงงาน

นายธวัชชัย ระบุว่า การนำระบบน้ำหยดมาใช้ในการปลูกมันฝรั่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดแรงงานคนในการให้น้ำแปลงปลูกมันฝรั่ง และสามารถให้สารเคมีและฮอร์โมนผ่านระบบน้ำหยดได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีและฮอร์โมนลดลง การให้น้ำผ่านระบบน้ำหยด ทำให้น้ำไม่ท่วมขังในแปลงมันฝรั่ง 

อีกทั้งทำให้อัตราการงอกของต้นมันฝรั่งสูงกว่า และช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งจึงควรนำระบบน้ำหยดมาใช้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากใช้ระบบน้ำหยด รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ระบบน้ำหยดของหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น 

สำหรับ “มันฝรั่ง” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงรายนับเป็นแหล่งผลิตมันฝรั่งสำคัญอันดับ 2 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดตาก มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 8,322 ไร่ คิดเป็น 22% ของเนื้อที่เพาะปลูกภาคเหนือมีเกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 1,618 ราย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสำคัญ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอเทิง