ครม.ไฟเขียวเพิ่มช่องทางส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว-ผลิตภัณฑ์กาแฟไทย

02 พ.ค. 2566 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2566 | 14:31 น.

ครม.ไฟเขียวเพิ่มช่องทางการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟไทย ที่ผสมเมล็ดกาแฟในประเทศกับนำเข้า หลังเพิ่มโอกาสส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย โดยปรับปรุงการกำกับดูแลการส่งออกกาแฟให้เหมาะสม เข้ากับสถานการณ์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเพิ่มช่องทางส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว และผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย โดยอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 

ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลการส่งออกกาแฟให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศไปยังต่างประเทศได้ จากเดิมที่สามารถส่งออกได้เพียงผลิตภัณฑ์กาแฟที่แปรรูปจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น 

ทั้งนี้ กาแฟคั่วจากเมล็ดกาแฟดิบหลายชนิดที่นำมาผสมกันได้ เช่น กาแฟบราซิลและกาแฟเคนย่า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาผสมกับเมล็ดกาแฟดิบที่ผลิตภายในประเทศ เช่น กาแฟอาราบิก้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคเหนือ เช่น กาแฟดอยช้าง และกาแฟโรบัสต้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคใต้ เช่น กาแฟจาก จังหวัดระนอง

แก้กฎหมายเกี่ยวกับกาแฟ ฉบับเดิม

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ เป็นปรับปรุงประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับมานาน โดยแก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

1.เพิ่มคำนิยาม “เมล็ดกาแฟคั่ว” หมายความว่า เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว ทั้งที่บดแล้ว และยังไม่บด (จากเดิมไม่มี)

2.ปรับแก้กรณีที่ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organization: ICO) โดยเพิ่มกรณีการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศ (จากเดิมไม่มี) 

เนื่องจากแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO กำหนดว่าไทยควรออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเท่านั้น ซึ่งกรณีนำเมล็ดกาแฟไปผสม ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า อีกทั้ง ข้อบังคับของ ICO ไม่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้สำหรับสินค้ากาแฟที่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

3.ปรับแก้ข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตในการส่งออก และไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเพิ่มกรณีส่งคืนสินค้ากาแฟกลับประเทศต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกาแฟไทยที่ได้สินค้ากาแฟไม่ตรงตามความต้องการหรือสินค้ากาแฟนั้นเสื่อมสภาพ (จากเดิมไม่มี)

ส่วนสาระสำคัญอื่น ๆ ยังคงเดิม เช่น 

  • ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร 
  • ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO ซึ่งออกโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการกาแฟไทย

สำหรับร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกาแฟไทย สามารถส่งออกกาแฟแปรรูปที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบในประเทศได้ 

รวมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์กาแฟแปรรูปเพื่อการส่งออกมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตเมล็ดกาแฟคั่วในประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าและเพิ่มโอกาสการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย