food-security

“อะโวคาโด” แก่นมะกรูด พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่บนพื้นที่ภาคกลาง

    ชม “อะโวคาโด” แก่นมะกรูด พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่บนพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรของ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรของ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง รักษาป่าไม้ และที่สำคัฯคือการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร

ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนา 4 หมู่บ้าน รวมครัวเรือนที่รับประโยชน์ 462 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอ ในตำบลแก่นมะกรูด เป็นพื้นที่กันชนกับป่าห้วยขาแข้ง ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้องอาศัยนายทุนตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และรถไถ ทำให้ดินเสื่อมสภาพต้องใช้สารเคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งขาดแคลนน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ มีหนี้สิน ขณะที่ป่าห้วยขาแข้งก็ถูกคุกคามจากการบุกรุกแผ้วถาง

อย่างไรก็ตามเมื่อชาวบ้านพร้อมลงมือพัฒนาด้วยตนเอง การพัฒนาก็เริ่มขึ้นด้วยการสอบแนวเขตที่ดินทำกิน พัฒนาระบบน้ำ พัฒนาด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพด้วยเกษตรทางเลือก ปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานและไม้ผลเศรษฐกิจ ด้วยพืชเมืองหนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี่ และรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร นำมาสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม

 

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

เริ่มต้นปลูก “อะโวคาโด”

ล่าสุด เกษตรกรแก่นมะกรูด ได้เริ่มปลูก “อะโวคาโด” ไม้ผลเมืองหนาว ซึ่งเดิมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี สามารถปลูกอะโวคาโดกันได้แล้ว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ความน่าสนใจของการปลูก “อะโวคาโด” ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีพื้นที่ติดกับป่าห้วยขาแข้ง โดยรอบมีภูเขาน้อยใหญ่โอบล้อม ในฤดูหนาวมีอากาศที่เย็นสบาย คล้ายคลึงกับพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้เหมาะกับการปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอะโวคาโด และสตรอว์เบอร์รี

ปัจจุบันตำบลแก่นมะกรูด เต็มไปด้วยต้นอะโวคาโดที่ให้ผลผลิตแล้ว บางต้นกำลังติดดอก กลายเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่กำลังได้รับความสนใจ คนในชุมชนแบ่งพื้นที่หันมาปลูกกันเป็นจำนวนมาก และนอกจากอะโวคาโด พื้นที่ของชาวบ้านที่ปรับเปลี่ยนมาทำสวนเกษตรผสมผสาน ยังเต็มไปด้วยไม้ผลอีกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ขนุน มะขาม พืชสมุนไพร พืชท้องถิ่นนา ๆ ชนิด ปลูกไล่ระดับเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ

 

ภาพประกอบข่าว “อะโวคาโด” แก่นมะกรูด พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

ปลูกไม้เมืองหนาวสร้างรายได้

หากย้อนไปในอดีตชาวบ้านตำบลแก่นมะกรูด นิยมทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยมีรายได้หลักจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ทำให้บ่อยครั้งเกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า และประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก 

จนเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2556 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้เข้ามาดำเนินโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ตามแนวพระราชดำริ 

เริ่มต้นจากการกำหนดขอบเขตที่ดินทำกิน การพัฒนาระบบน้ำ และปัจจัยการผลิตพื้นฐานให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง การบุกรุกพื้นที่ป่า โดยให้ชาวบ้านได้ร่วมคิดร่วมวางแผน ร่วมเห็นประโยชน์ และร่วมลงมือทำ พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้

หลังจากพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ได้มีการต่อยอด ส่งเสริมให้ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ ทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาปลูกพืชทางเลือก ไม้ยืนต้น ไม้ผล และพืชผักเมืองหนาวแบบผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน 

 

ภาพประกอบข่าว “อะโวคาโด” แก่นมะกรูด พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

 

เกษตรกรมีรายได้ได้ทุกวัน

นายตั้งชะกล้า อีมาด เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระฯ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ระบุว่า ตั้งแต่เลิกปลูกข้าวโพดและมันสําปะหลัง สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ดีขึ้น ปัจจุบันพื้นที่  5 ไร่ของตัวเองได้ปลูกไม้ยืนต้นและพืชผลเมืองหนาวกว่า 20 ชนิด มีทั้ง อะโวคาโด กาแฟ โกโก้ ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า

"อยากชวนคนในพื้นที่และเกษตรกรที่สนใจ หันมาทำสวนเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะนอกจากจะสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ได้ทุกวัน"

ส่วนต้นอะโวคาโด ในสวนของตัวเองมีอยู่ทั้งหมด 75 ต้น ปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตทยอยออกขายสู่ท้องตลาด และมีพ่อค้ามารับถึงที่สวน ซึ่งการปลูกอะโวคาโดนั้น ต้องดูแลเรื่องน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะใน 3 ปีแรก เคล็ดลับอีกอย่างคือ ปลูกน้อย ๆ แต่ดูแลดี ๆ ให้ปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อสร้างความสำเร็จ โดยเฉพาะการมีรายได้ที่ยั่งยืนตลอดทั้งปี

 

ภาพประกอบข่าว “อะโวคาโด” แก่นมะกรูด พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

 

ข้อมูลจาก : มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ