ดัน “ลิ้นจี่คุณภาพ” พันธุ์นครพนม 1 สู่พืชเศรษฐกิจ-สินค้า GI

04 พ.ค. 2566 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 14:10 น.

กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนองค์ความรู้ การผลิตลิ้นจี่คุณภาพ พันธุ์นครพนม 1 สู่พืชเศรษฐกิจและสินค้า GI เปิดตัวโมเดลเกษตรผสมผสานในสวนลิ้นจี่นครพนม 1 ไร่ 3 แสนบาท

ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 (นพ.1) ถือเป็นผลงานวิจัยการคัดเลือกพันธุ์ไม้ผลท้องถิ่น โดยสถานีทดลองพืชสวนนครพนม เริ่มเผยแพร่พันธุ์ในปี 2535 และมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จและเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม และเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่า 2,969 ไร่ ผลผลิตรวม 1,500 ตันต่อปี โดยให้ผลผลิต 65 – 180 กิโลกรัมต่อต้น ที่อายุต้นประมาณ 8 – 10 ปี โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี

 

ภาพประกอบข่าว ลิ้นจี่คุณภาพ พันธุ์นครพนม 1 สู่พืชเศรษฐกิจและสินค้า GI

 

จุดเด่น ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 เป็นลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์เบา มีขนาดผลใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสฝาดปน เนื้อหนา ความหวาน 18 – 20 องศาบริกซ์

ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 มีข้อได้เปรียบคือ ให้ผลผลิตเร็วซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมีน้อยทำให้ขายได้ราคาสูง การตลาด เกษตรกรขายให้กับพ่อค้าในพื้นที่และต่างจังหวัด ตลาดริมถนน ห้างสรรพสินค้า เช่น ทอป แมคโคร ตลาดค้าส่งได้แก่ตลาดไท และการขายทางออนไลน์ ไม่พบปัญหาด้านราคาและการตลาด 

ส่วนปัญหาของการปลูกลิ้นจี่ในจังหวัดนครพนม คือ การออกดอกติดผลและปริมาณผลผลิตไม่สม่ำเสมอเนื่องจากจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและความหนาวเย็นที่ไม่ต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ ปัญหาแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะขั้วผลแมลงวันผลไม้ ปัญหาด้านคุณภาพ เช่น เนื้อบางเมล็ดโต ผลแตก ผลสดเก็บรักษาได้ไม่นานเปลือกผลแห้งเร็ว ซึ่งกรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม มีการศึกษาวิจัยในการแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 

1.ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในพื้นที่กับหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนอกกระทรวงฯ 

2.จัดทำมาตรฐานผลลิ้นจี่นครพนม 1 สำหรับการบริโภคสด ประกอบด้วย

  • ต้องเป็นผลสดทั้งผลและมีขั้วผลติดอยู่ 
  • มีรูปทรงสีและรสชาติปกติตรงตามพันธุ์ 
  • ไม่มีรอยช้ำหรือตำหนิที่เห็นเด่นชัดและไม่เน่าเสีย 
  • สะอาดปราศจากสิ่งแปลกปลอม ปลอดจากศัตรูพืชและความเสียหายอันเนื่องมาจากศัตรูพืช ที่ตรวจสอบด้วยสายตา 
  • ปลอดจากความชื้นที่ผิดปกติจากภายนอก 
  • ปลอดจากความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ 
  • ไม่มีกลิ่นและรสชาติผิดปกติจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก

 

ภาพประกอบข่าว ลิ้นจี่คุณภาพ พันธุ์นครพนม 1 สู่พืชเศรษฐกิจและสินค้า GI อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

การแบ่งชั้นคุณภาพ

การแบ่งชั้นคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 แบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ คือ

ชั้นพิเศษ (AA) : สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผลน้อยกว่า 35 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 38 มิลลิเมตร 

ชั้นหนึ่ง (A) : ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.25 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-40 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร

ชั้นสอง (B) : ชั้นสอง ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.5 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-45 ผล/กิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร

 

ภาพประกอบข่าว ลิ้นจี่คุณภาพ พันธุ์นครพนม 1 สู่พืชเศรษฐกิจและสินค้า GI

 

การยกระดับสู่มาตรฐาน GAP

การยกระดับสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) แหล่งผลิตลิ้นจี่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ในปี 2565 จำนวน 69 แปลง พื้นที่ 125 ไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 169 ตัน มูลค่าผลผลิตประมาณ 13.5 ล้านบาท 

โดยมีการรวมกลุ่มตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และได้เป็นสินค้าเกษตร GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับเครื่องหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

ต่อยอดการพัฒนาลิ้นจี่นครพนม 1

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาโมเดลนครพนม 1 ไร่ 3 แสนบาท ลิ้นจี่นครพนม 1 ไร่ มี 25 ต้น ผลผลิตต้นละ 100 กิโลกรัม ขายกิโลละ 100 บาท 1 ไร่สร้างรายได้ 250,000 บาทต่อไร่ต่อปี ในระหว่างที่มีการตัดแต่งกิ่งลิ่นจี่ เกษตรกรจะทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย 1 ไร่สร้างรายได้ 4,000 บาทต่อไร่ต่อปี 

ทั้งนี้ในช่วงผสมลิ้นจี่ผสมเกสร จะมีการเอาผึ้งมาเลี้ยงในสวน เพื่อให้ผึ้งช่วยผสมเกสร ในพื้นที่ 1 ไร่จะเลี้ยงผึ้ง 34 ลัง เฉลี่ยให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 50 ลิตรต่อไร่ สร้างรายได้ประมาณ 17,500 บาทต่อไร่ต่อปี 

นอกจากนี้ ในระยะที่ลิ้นจี่ยังไม่ให้ผลผลิต มีการปลูกพืชแซมในสวนลิ้นจี่ เช่น กล้วย ข้าวโพดหวาน และในระยะลิ้นจี่ที่ให้ผลผลิตแล้ว แนะนำให้ปลูกพืชผักอื่นๆ ซึ่งจะสร้างรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี การทำสวนลิ้นจี่แบบผสมผสาน ควบคู่กับการปลูกพืช และ การเลี้ยงผึ้งเสริมรายได้