สถาบันยานยนต์เชื่อรัฐมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำมุ่ง 30@30

29 พ.ค. 2566 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2566 | 15:39 น.

สถาบันยานยนต์เชื่อรัฐมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำมุ่ง 30@30 สอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เดินหน้าจัด Automotive Summit เผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ จากเป้าหมาย 30@30 และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจากประเทศจีนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เนื่องด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่ 

  • SAIC กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี
  • GWM  กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี
  • BYD กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี
  • NETA กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี 
     

อีกทั้งยังอยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2 ราย ได้แก่ GAC Aion และ Chang An Automobile และมีแผนลงทุน 1 ราย ได้แก่ Chery Automobile (ปี 2024) ซึ่งเป็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 

สถาบันยานยนต์เชื่อรัฐมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำมุ่ง 30@30

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความท้าทายคือ เงื่อนไขการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป มาตรการกีดกันการทางการค้าระหว่างประเทศมีน้อยลง เช่น ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 

รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนมีความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในประเทศจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถาบันยานยนต์ได้ดำเนินการร่วมกับอาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ และพันธมิตรทางด้านยานยนต์จัด Automotive Summit เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป ได้รับทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยตลาดยานยนต์ทั่วโลกในปีนี้มีการเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกนั้น จากข้อมูลเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9%

สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย แต่ปริมาณดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่าย 31.8 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน 

ส่วนสถานการณ์ยานยนต์ไทยปี 66 ไทยคาดการณ์ปริมาณผลิต 1.95 ล้านคัน ขายในประเทศ 0.90 ล้านคัน และส่งออก 1.05 ล้านคัน และในเดือน มกราคม-เมษายน 2566 มีปริมาณการผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 5% 

ตลาดรถยนต์ในประเทศมีปริมาณ 276,603 คัน ลดลง 6% เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากผลของหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้น 

ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 19,347 คัน เพิ่มขึ้น 1,206% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดส่งออกมีปริมาณ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น 18% เป็นผลจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทาน ที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต