zero-carbon

วิศวะ จุฬาฯหนุนเทคโนโลยีใช้ประโยชน์ CO2 ผ่าน "CCUS Consortium"

    วิศวะ จุฬาฯหนุนเทคโนโลยีใช้ประโยชน์ CO2 ผ่าน "CCUS Consortium" เดินหน้าเป็นหน่วยงานกลางประสาน 8 ธุรกิจระดับประเทศ ดึงของเสียสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ พร้อมขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการผลักดันเทคโนโลยีจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยการเดินหน้าเป็นหน่วยงานกลางประสาน 8 ธุรกิจระดับประเทศจัดตั้ง CCUS Consortium ซึ่งได้ประกาศความร่วมมือในงาน Future Energy Asia (FEA) 2022 

ทั้งนี้ การจัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการจัดการ CO2 ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ นำมาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ในงาน FEA 2023 ทางคณะวิศวจุฬาฯและหน่วยงานองค์กรสมาชิก CCUS Consortium ได้นำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เป็นต้นแบบในการร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และจุฬาฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิชาการในการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต 

และได้นำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ผ่านการประเมินหลากหลายเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเปลี่ยน CO2 ไปเป็นผลิตภัณฑ์และสารเคมีมูลค่าสูงซึ่งล้วนใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย 

ซึ่งขณะนี้ สมาชิก CCUS consortium ได้ร่วมกันประเมินศักยภาพเทคโนโลยีต่างๆเพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และจุฬาฯยังได้เริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์โดยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเมทานอลโดยผ่านความร่วมมือกับสมาชิกใน CCUS consortium อีกด้วย

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบของการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนซี่งเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

หนึ่งในทางออกสำหรับวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกคือการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการดักจับ CO2 แล้วนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Capture and Utilization: CCU) 

ซึ่งแนวคิด CCUS กำลังได้รับแรงขับเคลื่อนและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมหลากหลายที่กำลังปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการลดการปล่อย CO2 และอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี CCUS นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีทางด้าน CCUS นับเป็นเรื่องที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่องและประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงในการสร้างเทคโนโลยีทางด้านนี้ได้เท่าทันต่างประเทศซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

การที่จะสามารถทำการวางแผนตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ได้นั้น ต้องอาศัยข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย จากผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีโอกาสที่จะกับเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์โดยผ่านกระบวนการและเทคโนโลยี จนถึงหน่วยงานที่สามารถวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อดักจับ กักเก็บ และแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นมหาวิทยาลัยและองค์กรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐผู้วางนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานชั้นนำในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวเดินไปสู่การจัดการก๊าซ CO2 ซึ่ง ขณะนี้ภายใต้ CCUS consortium สมาชิกได้ร่วมกันประเมินและศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย 

สำหรับ CCUS Consortium จัดตั้งขึ้นโดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศเข้าเป็นสมาชิกร่วม Consortium ประกอบด้วย

กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน

  • บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์

  • บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี

  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

กลุ่มอุสาหกรรมเหล็ก

  • บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)