การพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทย ในปัจจุบันมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน พร้อมทั้งได้หาทางส่งเสริมให้เกิดกลไกของ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ จำนวน 1.5 ล้านไร่ ซึ่งป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเล สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 8 - 9 เท่า
อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์นานาชนิดที่เข้ามาเพาะพันธุ์ ช่วยดูดซับน้ำเสียจากชุมชนก่อนไหลลงสู่ทะเล และยังทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่นลม และเป็นแหล่งประมงชายฝั่งอีกด้วย
เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มแล้ว 2 แสนไร่
ที่ผ่านมารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมมืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ การพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน และการส่งเสริม “คาร์บอนเครดิต” จนปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกิดป่าชายเลนเพิ่มขึ้นในประเทศกว่า 200,000 ไร่ โดยมีผลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
1.ตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ในจำนวน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี ซึ่งเมื่อปี 2565 สามารถฟื้นฟูได้แล้วกว่า 40,000 ไร่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศพื้นที่เป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนอีก 30,000 – 40,000 ไร่ โดยจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยในการดูดซับคาร์บอนลดการเรือนกระจกและเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้ในระยะยาว
2.โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อ "คาร์บอนเครดิต" จำนวน 300,000 ไร่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
3.โครงการ “ป่าในเมือง” ในจังหวัดระยอง หรือ “ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ” โดยเป็นพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 500 ไร่ บริเวณปากแม่น้ำระยอง ตำบลปากน้ำและตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีสะพานศึกษาธรรมชาติเป็นทางเดินยาว 7 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะถูกนำมาสร้าง "คาร์บอนเครดิต" เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ตั้งกรม Climate Change รับการพัฒนา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) หรือ “กรม Climate Change” เพื่อดูแลภารกิจรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม บริบทด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
นายกฯ หวังวางรากฐานให้คนรุ่นใหม่
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายฟื้นฟูป่าชายเลนให้ได้ในจำนวน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2565
สะท้อนความมุ่งมั่นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ตามแนวคิด BCG บรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมวางรากฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อถึงคนในรุ่นใหม่ในอนาคต
“นายกฯ เชื่อมั่นว่าการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน จะเป็นต้นแบบสำคัญในการวางรากฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน ส่งต่อถึงคนในรุ่นใหม่สอดคล้องกับแนวคิด BCG ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งคาร์บอนเครดิต จะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม” นายอนุชา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง