ทส.ตั้งเป้าเพิ่มป่าชายเลน 3 แสนไร่สร้างคาร์บอนเครดิตปั้นรายได้ชุมชน

23 เม.ย. 2566 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2566 | 11:15 น.

ทส.ตั้งเป้าเพิ่มป่าชายเลน 3 แสนไร่สร้างคาร์บอนเครดิตปั้นรายได้ชุมชน ภายใน 10 ปี มุ่งลดโลกร้อนเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชูป่าในเมืองระยองที่ถือเป็นอัญมณีหนึ่งเดียวของจังหวัด 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี โดยหนึ่งในนั้นที่เป็นตัวอย่างให้เห็นเชิงประจักษ์ก็คือป่าในเมืองระยองที่ถือเป็นอัญมณีหนึ่งเดียวของจังหวัด 

มีความสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนและทรัพยากรทางทะเล มีสะพานทอดยาวล้อมรอบด้วยป่าชายเลน ทางเดินยาว 7 กิโลเมตร ที่อาจจะยาวสุดในโลกก็ว่าได้ อยู่บนพื้นที่ 500 ไร่ ในจำนวนนี้จะถูกนำมาสร้าง "คาร์บอนเครดิต" เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยเรื่องคาร์บอนเครดิตถือเป็นวงจรใหญ่กว่าเดิมมาก มีเอกชนหลายแห่งต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะตลาดคาร์บอนเครดิตขายได้ สร้างรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องไปประสานกับกรมป่าไม้ และกรมชายฝั่ง
 

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 จะเพิ่มพื้นที่ป่าใช้เลนในภายใต้โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตจำนวน 300,000 ไร่ 

โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อ "คาร์บอนเครดิต" สำหรับบุคคลภายนอก คือ เปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการปลูกป่า 

และโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนชายฝั่งต่างๆ เครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ที่ดูแลป่าดูแลความอุดมสมบูรณ์

"แผนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ทช.วางเป้า 10 ปีจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 300,000 ไร่ ซึ่งในปี 65 สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ประมาณ 40,000 ไร่"

ขณะปี 66 ได้มีหลายภาคส่วนจองปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งกรมฯ กำลังจะประกาศพื้นที่เป้าหมายประมาณช่วงปลายเมษายน หรือพฤษภาคม อีกประมาณ 3-4 หมื่นไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยในการดูดซับคาร์บอนลดการเรือนกระจก และเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน