ค่าไฟแพงเพราะอะไร สูตรคำนวณแบบขั้นบันไดเป็นยังไง อ่านเลยที่นี่

21 เม.ย. 2566 | 06:00 น.
1.6 k

ค่าไฟแพงเพราะอะไร สูตรคำนวณแบบขั้นบันไดเป็นยังไง อ่านเลยที่นี่ ปลัดกระทรวงพลังงานชี้ใช้เยอะยิ่งแพง ย้ำสำรองไฟฟ้ามีความจำเป็น ลุ้น กกพ.ลดค่าไฟเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยตามข้อเสนอ กฟผ.

ค่าไฟแพงเพราะอะไร กำลังเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่บิลค่าไฟของแต่ละบ้านออกมาค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" ประเด็นเรื่องค่าไฟแพงกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้รับคำตอบพบว่า

ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนพบว่าแพงขึ้นในเดือนเมษายน เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้นในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติ โดยยืนยันว่าค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้าเดิมคือ 4.72 บาทต่อหน่วยสำหรับกลุ่มครัวเรือน (1มกราคม-30เมษายน2566) ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้า 

อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าจะมีอัตราเริ่มต้นและปรับอัตราเพิ่มเป็นขั้นบันได ยกตัวอย่างเช่น 

ประเภทผู้ใช้ครัวเรือนอัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) และภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดค่าไฟเริ่มต้นตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย , 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย , เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย 

ดังนั้นแม้ประชาชนจะไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิมแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก จะกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น 

สำหรับประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ "ค่าไฟ" แพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง  50 – 60% 

โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง 

อย่างไรก็ตามในด้านความมั่นคงพลังงาน การผลิตไฟฟ้าต้องเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่องและมั่นคง จำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง เพื่อรองรับเหตุต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าตามปกติได้ อาทิ แหล่งก๊าซธรรมชาติหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อซ่อมแซม หรือโรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องหรือปิดซ่อมบำรุง ซึ่งรวมทั้งกรณีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนผันผวน 

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป บ่งบอกว่าอาจมีโรงไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ผลกระทบที่ตามมา คือ อัตราค่าไฟจะสูงขึ้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดรวมต้นทุน ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วย 

แต่หากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองน้อย จะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการขาดแคลนไฟฟ้าในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง 

ล่าสุดความต้องการใช้ไฟฟ้า ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค ดีมานด์ เดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2565 ซึ่งพีค ดีมานด์ ต้องมาพร้อมกับสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอด้วย

โดยต้นทุนไฟของไทยที่สูงขึ้นมาจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยปัจจุบันพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ทั้งอ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) สูงถึง 56% โดยปี 2565 มีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตของแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่ในอ่าวไทย ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตก๊าซในประเทศลดลงจากเดิม 

นอกจากนี้ปีที่ผ่านมายังเกิดวิกฤตการณ์ราคาแอลเอ็นจีโลก มีความผันผวนและปรับสูงขึ้นเป็นอย่างมากจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาแอลเอ็นจีจากปกติ 8-10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เพิ่มสูงขึ้นถึง 50-80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นเหตุผลหลักทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น  

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.66) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วยเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ตามที่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้สัมภาษณ์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เสนอรับชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระเพิ่มจาก 5 งวดไฟฟ้า หรือ ประมาณ 20 เดือน เป็น 6 งวดไฟฟ้า หรือ ประมาณ 24 เดือนหรือสองปี 

ซึ่งการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอำนาจของ กกพ. กระทรวงพลังงานไม่อาจก้าวล่วง ในการที่จะบอกว่าอัตราค่าไฟฟ้างวดที่สองนี้จะลดลงมาเหลือ 4.70 บาทหรือไม่ แต่กฟผ.ได้มีการเสนอไปให้กกพ.พิจารณาแล้ว