zero-carbon

บิ๊ก "EV" จีนทุ่มงบ 9.8 พันล้านปักหมุดตั้งฐานผลิตในไทยป้อนตลาดโลก

    บิ๊ก "EV" จีนทุ่มงบ 9.8 พันล้านปักหมุดตั้งฐานผลิตในไทยป้อนตลาดโลก บีโอไอลุยเดินหน้าดึงผู้ผลิต EV ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม ปูทางดันไทยเป็นฐานการผลิตโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จะดำเนินการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ในประเทศไทยด้วยเงินลงทุน 9,800 ล้านบาท 

ทั้งนี้ จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นแห่งแรกนอกประเทศจีนในการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

สำหรับบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล นั้นเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทฟอร์ด และมาสด้า ผลิตรถยนต์ในจีน

สำหรับแผนการลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัทเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 และมีการหารือร่วมกับสำนักงานบีโอไอ ณ นครเซี่ยงไฮ้ อย่างใกล้ชิด ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนเชิงลึก รวมถึงได้ส่งทีมงานเดินทางมาพบกับผู้บริหารของบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อหารือมาตรการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน “การตัดสินใจลงทุนดังกล่าวในประเทศไทยของฉางอัน แสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร รวมทั้งซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับการผลิต EV โดยบริษัทได้เริ่มหารือกับซัพพลายเออร์ในไทย เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ด้วย"

อย่างไรก็ดี บีโอไอจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อดึงผู้ผลิต EV ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
 

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท 

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 โครงการ จากบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนพฤษภาคม และบริษัท GAC Aion ที่ได้มาหารือร่วมกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 6,400 ล้านบาท เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา