Dow-กิมไป๊ ลามิทิวบ์ผุดนวัตกรรมหลอดยาสีฟันรีไซเคิลมุ่งลดคาร์บอน

21 เม.ย. 2566 | 17:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 17:43 น.

Dow-กิมไป๊ ลามิทิวบ์ผุดนวัตกรรมหลอดยาสีฟันรีไซเคิลมุ่งลดคาร์บอน ลั่นรายแรกในไทยที่สมาคมผู้รีไซเคิลพลาสติกรับรอง และรายที่ 5 ของโลกในหมวดหมู่บรรจุภัณฑ์ประเภทหลอด เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า Dow ได้ดำเนินการร่วมกับ กิมไป๊ ลามิทิวบ์ (Kimpai Tubes) พัฒนานวัตกรรมหลอดลามิเนตนวัตกรรมใหม่รีไซเคิลได้ 

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวผลิตจากพลาสติกชนิดวัสดุเดียวปราศจากชั้นอะลูมิเนียมฟอยส์ ใช้บรรจุภัณฑ์ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมนวดผม ครีมทามือ เซรั่ม และโลชั่นต่างๆ 

สำหรับกิมไป๊ ลามิทิวบ์ เป็นรายแรก และรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสมาคมผู้รีไซเคิลพลาสติก รวมทั้งเป็นรายที่ 5 ของโลกในหมวดหมู่บรรจุภัณฑ์ประเภทหลอด

“หลอดลามิเนตที่มีชั้นโลหะ ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยในปัจจุบันต้องใช้การรีไซเคิลในรูปแบบที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งท้ายสุดกลายเป็นขยะที่ไม่ถูกรีไซเคิล จึงมีการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน โดยพัฒนาหลอดลามิเนตที่ทำจากพลาสติกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมผู้รีไซเคิลพลาสติกระดับโลก"

โดยใช้เรซิน ELITETM และ DOWLEXTM ในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นพลาสติกโพลิเอทิลีน ประเภท High Alpha-Olefins (HAO) Polyethylene ของ Dow ซึ่งช่วยปรับสมดุลย์ให้มีความเหนียวและความแข็งแรง รวมทั้งความหนาแน่นที่ง่ายต่อการรีไซเคิล เนื่องจากทั้งฝาและหลอดทำจากพลาสติกชนิดเดียวกัน” 

Dowผนึกกิมไป๊ ลามิทิวบ์ผุดนวัตกรรมหลอดยาสีฟันรีไซเคิลลดคาร์บอน นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า Dow มุ่งที่จะพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนโดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและขยะพลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่า 

นางสาวสุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ กิมไป๊ ลามิทิวบ์ กล่าวว่า กิมไป๊มุ่งที่จะจัดการกับปัญหาขยะด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์ที่เคยรีไซเคิลยากให้สามารถรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะขณะนี้ที่คนทั้งโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและผู้บริโภคจำนวนมากก็หันมาสนับสนุนแบรนด์ 

และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้จึงนับได้ว่าเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตและแบรนด์ให้เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ระยะแรก ตามหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต 

นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภคหรือคอนซูเมอร์โปรดักส์แบรนด์หลักของโลก ได้มีการตั้งเป้าหมายสำหรับแผนการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ประเภทหลอดให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% ภายในปีพ.ศ.2568 เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

"กิมไป๊ ลามิทิวบ์ก็มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนเช่นกัน และจะช่วยขับเคลื่อนให้แบรนด์หลักของโลกสามารถเปลี่ยนหลอดบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” 

นางสาวสุรัชนี กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคสามารถสังเกตุบรรจุภัณฑ์ชนิดรีไซเคิลได้นี้ได้ที่เครื่องหมายเลข 2 (อักษร HDPE) ในลูกศรสามเหลี่ยมที่ปรากฏบนหลอดบรรจุภัณฑ์ โดยเมื่อใช้หมดแล้ว ให้ล้างหลอด ผึ่งให้แห้ง แล้วรวบรวมนำไปทิ้งได้ที่จุดรับขยะรีไซเคิลมือวิเศษ กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร (ทิ้งรวมกับ "ขวดขุ่น" ซึ่งเป็นพลาสติก HDPE เช่นกัน) หรือ ทิ้งในจุดรับขยะพลาสติกประเภท HDPE ทั่วไป