นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงประเด็นความคืบหน้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกฎหมายภาคบังคับ โดยคาดว่าจะออกมาใช้ได้ประมาณเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคมปี 2566 นี้
ทั้งนี้ ไม่ว่าเป็นรัฐบาลชุดไหนก็จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบจากกำแพงภาษีของฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้กฎหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตแล้ว
สำหรับกฎหมายดังกล่าวนั้น จะใช้บังคับกับภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษหรือคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อลดการปล่อยให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งบริษัทจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่ามีเท่าไหร่
และจะจัดสรรโควตากันอย่างไร โดยเบื้องต้นประเทศไทยจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพรินต์ได้เพียง 120 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ภายในปี พ.ศ. 2608
อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายออกมาจะต้องมีมาตรการไปกำหนดทุกธุรกิจ ทุกกิจกรรมในประเทศไทย ว่ามีโควตาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ โดยหลังจากลดและปรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทั้งปรับสายการผลิต เปลี่ยนหลอดไฟในบริษัท ติดตั้งพลังงานโซลาร์ในบริษัท
แต่ยังลดไม่พอ ยังเกินกว่าโควตาที่มี ก็จะต้องไปหาซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพิ่มเติมเข้ามา ที่จะส่งผลทำให้ราคา Carbon Credit เพิ่มขึ้นไปเป็น 75-80 ยูโรต่อตัน
ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 75 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปอยู่ที่ตันละ 85 ยูโร ดังนั้นในอนาคตราคาขายคาร์บอนด์เครดิตในไทยจะไปอยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อตัน
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า คุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ดีที่สุดคือป่าชายเลน ซึ่งมีมากกว่า 7-8 เท่า เมื่อเทียบกับป่าบนบกปกติ โดยสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าปกติ ซึ่งมีการศึกษามาแล้วว่าต้นโกงกางเป็นต้นไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง