นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ฮิตาชิ จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก NEDO ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ Optimized Performance Enabling Network for Volt/Var(Q) (OPENVQ) กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ร่วมกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้าได้ประมาณ 8-9% โดยยังคงไว้ซึ่งความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและความมั่นคง ในระบบไฟฟ้ารองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจวัด เชิงปริมาณของผลการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกเครดิตร่วม (Joint Credit Mechanism: JCM) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ฯพณฯ นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality
โดยนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศและอาศัย จุดแข็งของแต่ละประเทศ ตอกย้ำการตระหนักถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และหวังว่าภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะร่วมกันยกระดับประสิทธิภาพการเชื่อมโยงในภาคพลังงานระหว่างกันต่อไป
ดร. ชูจิ ยูมิโทริ กรรมการบริหาร NEDO ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ตามที่ไทยมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนในระบบไฟฟ้า การควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้ได้อย่างเหมาะสมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นที่มาของโครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ.
ซึ่งการควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ จะช่วยลดความสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้าและนำไปสู่การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลงตามไปด้วย
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ สามารถตอบสนองต่อแผนพลังงานชาติที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ได้เป็นอย่างดี
ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งไฟฟ้า การลดความสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้า ตลอดจนลดการปล่อย CO2 หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกภาคส่วนในการประสานนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง