zero-carbon

"กฟผ." ผนึกภาคีเครือข่ายรุกแก้โลกร้อน ลด PM2.5 มุ่ง "Net Zero"

    "กฟผ." ผนึกภาคีเครือข่ายรุกแก้โลกร้อน ลด PM2.5 มุ่ง "Net Zero" ชูแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองด้วย Big Data ระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล นำร่องแม่เมาะเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่

นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Net Zero)

ทั้งนี้  ได้มีการจัดทำระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล (Mae Moh City Data Platform) เป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม PM2.5 และการจัดการเมืองสู่ความยั่งยืน โดยใช้อำเภอแม่เมาะเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่ และจะขยายผลสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ

"การยกระดับเมืองสู่ Net Zero ด้วย City Data Platform กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยการพัฒนาระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล นำร่องในพื้นที่อำเภอแม่เมาะถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับเมืองสู่ Net Zero"

สำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นการรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลเมืองด้านต่าง ๆ อาทิ คุณภาพอากาศ จุดความร้อนและไฟป่า พื้นที่สีเขียว ขยะและของเสีย น้ำ และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลจริงจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แบบเรียลไทม์ 

เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองสำหรับประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารเมืองในการตัดสินใจทั้งการบริหารจัดการ การเตือนภัยและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับบริบทของการก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ 

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาหมอกควันในประเทศไทยเริ่มทวีความรุนแรงในวงกว้างซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาทิ การเผา การสันดาปของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง 

กฟผ. ผนึกภาคีเครือข่ายรุกแก้โลกร้อน ลด PM2.5 มุ่ง  Net Zero รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ดังนั้น เป้าหมายในการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนจึงต้องยึดหลักการสำคัญคือ ทำให้เมืองมีความปลอดภัย มีภูมิต้านทานที่ดี และสร้างการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้ ซึ่งการสร้างเมืองน่าอยู่ต้องมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ประกอบด้วย 

ระบบการติดตามตรวจสอบ (Monitoring) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้าถึงง่ายในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ เช่น การพยากรณ์ค่าฝุ่นและมลพิษต่าง ๆ ทั้งจากชั้นบรรยากาศและแหล่งกำเนิด การส่งเสริมให้เกิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน

และมาตรการและนโยบายภาครัฐที่ต้องส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวและมาตรฐานที่ดีในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการประสานขอความร่วมมือจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนในทุกมิติ 

นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนผ่านการบูรณาการเทคโนโลยี Big Data ยังเป็นกลไกสำคัญในการเร่งผลักดันประเทศไทยให้สามารถรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคพลังงานสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงด้านนโยบาย และผลักดันและสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

นางลิสา เอ. บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยในการก้าวสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้รับทุนจากองค์กรของสหรัฐอเมริกาในการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด 

ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา 

นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกาได้มองหาแนวทางใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคผ่านโครงการด้านพลังงานสะอาดและ Net Zero ของกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา 

โดยวิกฤตหมอกควันส่งผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสุขภาพของประชาชน รวมถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนสนับสนุนระบบดาวเทียมและเซนเซอร์วัดคุณภาพอากาศแก่มหาวิทยาลัยและนักวิจัยสำหรับติดตามค่าคุณภาพอากาศให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ได้