“นํ้ามันพืชกุ๊ก”นำร่องเกาะสีชัง จัดการแยกขยะอินทรีย์ที่ต้นทาง

11 มี.ค. 2566 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2566 | 13:03 น.
601

บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์นํ้ามันพืช จำกัด ร่วมกับ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม FoodLoss FoodWaste Thailand (FLFWT) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโรงเรือนนวัตกรรมสร้างคุณค่า ORGANIC WASTE

ทั้งนี้เป็นการเปิดโรงเรือนดังกล่าวให้กับชุมชน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และต่อยอดการสร้างอาชีพของชุมชน ที่ถือเป็นกิจกรรมที่บริษัทดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 “โครงการแยกขยะสัญจร” ซึ่งปีนี้ได้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นทอง เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่าเพิ่ม ด้วย “หนอนแมลง ทหารเสือ (Black Soldier Fly : BSF)” เป็นปีแรก นำมาสู่ความร่วมมือกับ FLFTW ที่ทำงานด้านการจัดการขยะที่ต้นทางและนำขยะอินทรีย์ไปเพิ่มมูลค่าด้วยหนอนแมลงทหารเสือ (BSF) และยังได้รับทุนเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์จาก สสส. เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะอินทรีย์อย่างยั่งยืน

นายอดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์นํ้ามันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนํ้ามันพืชกุ๊ก กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการตอกยํ้าพันธกิจในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมและดำเนินนโยบายและแนวทางในการอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบ Symbiosis ที่เอื้อผลดีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคมโดยรวม ชุมชนรอบข้างและพนักงานทุกคน

ทั้งนี้ เกาะสีชังมีปัญหาเรื่องขยะจำนวนมาก รวมถึงปัญหาแมลงวันบ้าน จึงได้ทำงานร่วมกับ FLFWT สนับสนุนให้เกิดโรงเรือนต้นแบบ BSF Community Compost ขึ้นเป็นที่แรกในประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชน และเป็นศูนย์ต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในการจัดการแยกขยะอินทรีย์ที่ต้นทางและเพิ่มมูลค่า ควบคู่กับการสร้างคุณค่าร่วมไปกับชุมชนเพื่อความยั่งยืน

“นํ้ามันพืชกุ๊ก”นำร่องเกาะสีชัง จัดการแยกขยะอินทรีย์ที่ต้นทาง

โครงการ BSF Community Compost ที่เกาะสีชัง เป็นโครงการนำร่อง ที่ได้นำอาคารโรงอาหารเก่าของโรงเรียนเกาะสีชัง ซึ่งไม่ได้ใช้งานมาปรับปรุงใหม่ ปัจจุบันสามารถดำเนินการจัดการขยะได้สูงสุดถึงวันละ 100 กิโลกรัมหรือเดือนละ 3 ตัน

พร้อมกับมุ่งรณรงค์ให้คนบนเกาะสีชัง ตระหนักถึงปัญหาขยะอินทรีย์ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมทั้งชาวบ้านและเด็กนักเรียน

นอกจากนี้ FLFWT ยังได้มีการจัดประกวดการจัดการขยะอินทรีย์ที่บ้านด้วยหนอน BSF ภายใต้ชื่อโครงการ Food Waste Hero และ Food Waste Hero Junior โดยให้เด็ก ๆ จับกลุ่มเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ที่บ้าน รวมถึงสอนให้ขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหนอน BSF ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเชื่อมต่อให้ครบวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะลดขยะอินทรีย์ ในที่หลุมฝังกลบแล้วยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ในระยะยาว

“เรามองว่าการแก้ปัญหาขยะอินทรีย์นั้นต้องเริ่มจากบ้านและเริ่มจากเด็กๆ ถ้าพวกเขามีความรู้เรื่องการแยกขยะและการสร้างมูลค่าจากขยะอินทรีย์ได้ จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลนี้ไปด้วย อีกทั้งทาง FLFWT ได้ทำการอบรมชาวบ้านและชุมชนคู่ขนานกันไป ปัจจุบันได้มีการอบรมไปแล้ว 3 รอบ มีผู้เข้าอบรมไม่ตํ่ากว่า 300 คน”

ส่วนแผนการต่อยอดโครงการนี้ไปยังชุมชนอื่นๆ นั้น ปัจจุบัน บริษัทฯ มีชุมชนกว่า 18 ชุมชน และโรงเรียนกว่า 10 โรงเรียน ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งของบริษัท หากโครงการนี้สำเร็จ บริษัทจะนำไปขยายผลต่อยอดและแบ่งปันความรู้ให้แก่ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจในโครงการต่อไป